ผู้สูงอายุขับรถได้ไหม เรื่องที่ต้องพิจารณา ก่อนผู้สูงอายุขับรถ ได้อย่างปลอดภัย
มักเป็นคำถามของหลายๆ คนว่า การที่อายุมากขึ้น ร่างกายบางส่วนเสื่อมสภาพลงตามวัย จะส่งผลกระทบต่อการขับรถหรือไม่ การเป็นผู้สูงอายุ แม้ว่าร่างกายจะเสื่อมถอยลง หรือไม่แข็งแรงเหมือนช่วงวัยหนุ่มสาว
แต่ผู้สูงอายุจำนวนมากก็ยังต้องการใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป อยากทำอะไรเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ไม่ได้อยากเป็นภาระของบุตรหลาน อยากจะไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ทำให้เรามักจะเห็นผู้สูงอายุออกไปเที่ยว ซื้อของ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ภายนอกบ้านโดยไม่มีคนดูแล
ผู้สูงอายุขับรถได้ไหม?
ผู้สูงอายุบางคนก็เลือกใช้วิธีการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ แต่ผู้สูงอายุบางคนก็ขับรถด้วยตนเอง หลายคนที่พบเห็นจึงเกิดคำถามว่า จริงๆ แล้วผู้สูงอายุขับรถได้ไหม และขับรถแบบไหนถึงจะปลอดภัย
คำถามที่ว่า ผู้สูงอายุขับรถได้ไหม ในความเป็นจริงแล้วเรื่องของอายุไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการขับรถ แต่ข้อจำกัดสำคัญ คือ สภาพร่างกายมากกว่า เพราะหากสภาพร่างกายไม่มีความพร้อมในขณะขับขี่ ย่อมจะเกิดอันตรายได้ทั้งหมด
สภาพร่างกายก็คงเป็นเรื่องของประสาทสัมผัสทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน ระบบประสาท และยังรวมถึงสภาพร่างกายที่พร้อมใช้งานได้อย่างปกติด้วย
6 เช็กลิสต์ก่อนผู้สูงอายุขับรถ เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สูงอายุที่มีสภาพร่างกายสมบูรณ์ พร้อมจะขับรถ แต่การขับรถให้ปลอดภัยยังมีปัจจัยและเรื่องอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุขับรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเรื่องที่ต้องพิจารณามี 6 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. เช็กความพร้อมของร่างกาย
ความพร้อมของร่างกาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการประเมินว่า ผู้สูงอายุขับรถได้ไหม ซึ่งหากซีเรียสมากๆ อาจจะต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย หรือประเมินความพร้อมว่าผู้สูงอายุขับรถได้ไหมเลยทีเดียว
แต่หากประเมินโดยหลักการทั่วไปสำหรับผู้สูงอายุที่จะขับรถก็คงดูในเรื่องเหล่านี้ เช่น สมองต้องแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว มีสมาธิและความตั้งใจดี มีการตัดสินใจที่ว่องไวและแม่นยำ มีความปราดเปรียว แคล่วคล่อง ว่องไว
เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันต้องมีการประสานงานของส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างดี เช่น ระหว่างมือ แขน ขา คอ เป็นต้น มีกำลังกล้ามเนื้อที่เพียงพอ มีการขยับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี การมองเห็น และการได้ยินที่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากผู้สูงอายุมีความผิดปกติในด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
สำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 85 ปี มีปัญหาด้านการมองเห็น มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงป่วยเป็นโรคต่างๆ อาทิ โรคทางตา โรคสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์จากโรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคลมชัก โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน หรือแม้แต่การที่ผู้สูงอายุมียาต้องกินเป็นประจำและหลายชนิด ก็ไม่ควรขับรถเช่นกัน เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. เช็กสภาพรถให้พร้อมใช้งาน
สภาพรถที่ผู้สูงอายุจะขับ ต้องพร้อมใช้งาน มีอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วน ไม่บกพร่อง หรือชำรุด มีการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ น้ำมันเครื่อง หม้อน้ำ และมีน้ำมันเพียงพอสำหรับการเดินทาง
ผู้สูงอายุอย่าลืมพกใบขับขี่ ประกันภัยรถยนต์ เอกสารสำคัญเกี่ยวกับรถติดตัวไปด้วยทุกครั้ง รวมถึงจะต้องแต่งกายและสวมรองเท้าให้เหมาะสมต่อการขับรถด้วย
3. วางแผนการเดินทาง
ผู้สูงอายุที่จะขับรถ ควรวางแผนการเดินทาง โดยกำหนดเส้นทางที่ใช้ไปยังจุดหมาย ไม่ควรใช้เส้นทางที่ไม่คุ้นเคย และตรวจสอบเส้นทางที่ใช้ว่าเป็นอย่างไร มีการจราจรหนาแน่นหรือไม่ หรือเป็นเส้นทางที่อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง หรือการก่อสร้างหรือไม่
ซึ่งหากผู้สูงอายุไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางได้ด้วยตนเอง อาจจะให้บุตรหลานช่วยตรวจสอบ หรือเช็กสภาพเส้นทางก่อนได้ นอกจากนี้ผู้สูงอายุไม่ควรขับรถเส้นทางระยะไกลเกินไป หากต้องขับรถเส้นทางไกล ควรจอดพักระหว่างทาง เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนล้าจนเกินไป
4. ตรวจสอบสภาพอากาศ
หากผู้สูงอายุต้องเดินทางระยะไกล โดยเฉพาะการเดินทางไปยังต่างจังหวัด ควรตรวจสอบสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เพราะถนนจะลื่นอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ช่วงเวลาของการขับรถก็มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายด้วย เช่น ผู้สูงอายุไม่ควรขับรถในช่วงเวลากลางคืน เพราะทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควร หรือการขับรถในช่วงวันที่มีสภาพอากาศไม่ดี มีฝุ่นควันมาก หากหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ การขับของผู้สูงอายุจะปลอดภัยมากขึ้น
5. ขับรถให้ถูกกฎจราจร
การขับรถให้ถูกต้องตามกฎจราจร ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่เฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขับรถในอัตราเร็วที่กำหนด การคาดเข็มขัดนิรภัย การไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ เป็นต้น
6. มีเพื่อนร่วมทาง
แม้ว่าผู้สูงอายุขับรถได้ด้วยตนเอง แต่การเดินทางที่ปลอดภัยควรมีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย โดยเฉพาะในเส้นทางระยะไกล เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือมีเรื่องต้องได้รับความช่วยเหลือ เพื่อนร่วมทางจะได้ช่วยเหลือกันได้ หรืออย่างน้อยจะเป็นเพื่อนพูดคุยทำให้ไม่ง่วงนอน หรืออาจจะช่วยขับ เมื่อผู้สูงอายุเมื่อย หรือเกิดอาการล้า
บทสรุปส่งท้าย
ทั้งหมดนี้ก็เป็น 6 เรื่องสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมความพร้อมก่อนการขับรถเพื่อความปลอดภัย ซึ่งน่าจะตอบคำถามได้ว่า ผู้สูงอายุขับรถได้ไหม เพราะหากทำตามทั้ง 6 ข้ออย่างเคร่งครัด เชื่อว่าผู้สูงอายุจะเดินทางไปไหนต่อไหนได้อย่างปลอดภัยแน่นอน.