ปูไก่ ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ทำไมชื่อปูไก่? กินได้ไหม? ก้ามใหญ่มาก!
ปูไก่ คืออะไร?
ปูไก่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cardisoma carnifex เป็นปูชนิดหนึ่งในวงศ์ปูบก (Gecarcinidae) มีอีกชื่อเรียกว่า ปูขน หรือ ปูภูเขา ซึ่งเป็นปูที่ชอบอาศัยอยู่ตามธารน้ำ แต่เวลาร้องจะมีเสียงคล้ายไก่ และชอบออกหากินในช่วงกลางคืน ปูไก่เป็นสัตว์หายาก พบได้มากที่สุดในเกาะเมียง และเกาะตาชัยของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา
ทำไมชื่อ "ปูไก่"
เหตุที่ได้ชื่อว่าปูไก่ เนื่องจากมีเสียงจากการกระทบกันของกล้ามปู เสียงดังคล้ายเสียงร้องของไก่ ปูไก่ตัวใหญ่ ก้ามโตสีแดงสด จะแอบซ่อนตัวอยู่ตามขอนไม้ เป็นปูน้ำจืดที่ชอบอยู่ตามลำธาร แต่จะพบได้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ซึ่งอยู่ในช่วงข้างขึ้น มันจะออกมาล้อแสงจันทร์จับคู่ พร้อมทั้งใช้ก้ามคู่หน้าสีกัน มีเสียง"เจี๊ยบๆ" คล้ายลูกไก่ร้อง จึงเป็นที่มาของชื่อ "ปูไก่"
วงจรชีวิตของปูไก่
ปูไก่ มีชีวิตที่ไม่ค่อยซ้ำแบบใคร เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว จากนั้นตัวเมียก็ลงไปปล่อยไข่ริมทะเล ให้น้ำทะเลพาไข่กลับไปฟักเป็นตัว วัยอ่อนเจริญในน้ำทะเล พอโตจะย้ายกลับมาอยู่บนบก โดยขุดรูและหากินเรื่อยไป แต่ไม่ไกลชายฝั่งทะเลมากนักกินซากพืชซากสัตว์ และสัตว์ที่มีขนาดเล็กและใบไม้เป็นอาหาร และจะกลับไปทะเลอีกครั้งในตอนที่ตัวเมียวางไข่ในน้ำทะเลเท่านั้น
ปูไก่ที่โตเต็มวัย กระดองเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลปนเหลือง ด้านหน้าโค้งมนกลม เหนือเบ้าตามีปุ่มเล็กๆ ข้างละปุ่ม กระดองตอนหน้าระหว่างขอบตาแคบ ตัวผู้มีก้ามซ้ายที่ใหญ่ โตและแข็งแรง ปลายก้ามหนีบนบนยาวกว่าอันล่าง ขาเดินมี 4 คู่ข้อสุดท้ายมีปลายแหลม ขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ขาเดินทุกคู่ มีขนสีดำ
ช่วงโตเต็มวัยจะใช้ชีวิตอยู่บนบก ทำให้ต้องมีโครงสร้างที่ต้องเอื้อต่อการดำรงชีพ โดยต้องหายใจจากอากาศโดยตรง ดังนั้น มันจึงมีเหงือกเป็นขุย มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงจำนวนมากคล้ายกับถุงลมในปอดของสัตว์บก
ปูไก่ กินได้ไหม?
เนื้อปูไก่ สามารถกินได้ แต่ไม่นิยมกินกัน เนื่องจากการดำรงชีวิตที่ส่วนใหญ่จะอยู่บนบกทำให้การขับถ่ายจะแตกต่างไปจากปูทะเล ที่กระบวนการเปลี่ยนของเสียของปูชนิดนี้จากแอมโมเนีย จะกลายเป็นกรดยูริก แล้วเก็บไว้ในเนื้อเยื่อ จึงส่งผลให้เนื้อปูไก่ เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารจึงมีรสชาติไม่อร่อยลิ้น คนจึงไม่นิยมนำมาบริโภค
ลักษณะปูไก่
ปูไก่ มีรูปร่างหน้าตาเหมือนปูทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่ ขนาดกระดอง 10 เซ็นติเมตร เมื่อกางก้ามคู่หน้าออกเต็มที่มีความยาวถึง 35-45 เซ็นติเมตร ช่วงที่โตเต็มวัยกระดองเป็นรูปไข่สีน้ำตาลปนเหลือง ด้านหน้าโค้งมนกลม ตัวผู้มีกล้ามที่ใหญ่โตและแข็งแรง ขาเดินมี 4 คู่ ข้อสุดท้ายมีปลายแหลมขอบหยักเป็นฟันเลื่อย ขาเดินทุกคู่มีขนสีดำ ก้ามมีสีน้ำตาลปนส้ม
แหล่งที่อยู่อาศัย
พบตามลำธารบนภูเขาและตามป่าชายหาดตามเกาะของภาคใต้ แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ ยะลา พังงา ซึ่งปัจจุบันพบได้ยากมาก แต่ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปที่เกาะสี่หรือเกาะเมียง และเกาะตาชัยของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงาเท่านั้น