เอื้องคาวมัจฉา ออกดอกเดือนไหน? กล้วยไม้ป่า ดอกมีกลิ่นคล้ายกลิ่นคาวปลา..
เอื้องคาวมัจฉา คืออะไร?
เอื้องคาวมัจฉา ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipsea thailandica Seidenf. จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ Orchidaceae คำระบุชนิด "thailandica" หมายถึง พบในประเทศไทย ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย ส่วนชื่อไทย "เอื้องคาวมัจฉา" นั้นได้มาจากกลิ่นของดอกที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับกลิ่นคาวปลา
เอื้องคาวมัจฉา ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Contributions to the Orchid Flora of Thailand 13 ปี พ.ศ. 2540 โดย Gunnar Seidenfaden อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2498-2502) และนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กล้วยไม้ของไทยและในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข Thaithong 1289
โดยระบุว่าเป็นกล้วยไม้ดินมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งไม่ทราบแหล่งที่แน่ชัด การสำรวจพบครั้งนี้เป็นการยืนยันการพบในไทย ข้อมูล ณ ปัจจุบันเป็นพืชถิ่นเดียว (endemic) ของไทย ยังไม่มีข้อมูลลักษณะใบเนื่องจากใบและดอกออกไม่พร้อมกัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กล้วยไม้ขึ้นบนหิน สูงได้ถึง 20 ซม. ลำลูกกล้วยรูปทรงกรวย มี 3-4 ใบ รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 1.6-3.2 ซม. ยาว 8.5-21 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบสั้น
ดอกเอื้องคาวมัจฉา
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกทางด้านข้างของลำลูกกล้วย เมื่อออกดอกจะไม่พบใบ ช่อดอกมีขนสั้นนุ่ม แต่ละช่อมี 1-3 ดอก ใบประดับช่อดอกสีน้ำตาลเข้มแกมสีเขียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายแหลม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 3 กลีบ สีเหลืองแกมเขียวมีจุดสีน้ำตาลแดงประปราย
กลีบเลี้ยงบนรูปรีกว้างถึงรูปใบหอกกลับ กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปใบหอกแกมรูปรี ปลายมนถึงเรียวแหลม กลีบดอกรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมน โคนสอบเรียว กลีบดอกที่เป็นกลีบปากสีขาวครีม แยกเป็น 3 แฉกชัดเจน แฉกด้านข้างโค้งขึ้น มีรอยแต้มสีน้ำตาลแดง แฉกกลางพับลง
ออกดอกช่วงเดือนไหน
ดอกเอื้องคาวมัจฉา ออกดอกเดือนธันวาคม
นิเวศวิทยา
เอื้องคาวมัจฉา เป็นพรรณพืชถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ตามป่าเต็งรังบนเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ประมาณ 880 ม.
ชื่อพ้อง: Ancistrochilus thailandicus (Seidenf.) Szlach. & Marg., Polish Botanical Journal 46(2): 113. 2002.
เอกสารอ้างอิง: Seidenfaden, G. 1997. Contributions to the Orchid Flora of Thailand XIII: 14–15. Olsen & Olsen, Fredensborg, Denmark..