นกเอี้ยงหงอน ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ? (นกเอี้ยงเลี้ยงควาย, นกเอี้ยงดำ) กินอะไร.
เนื้อหาข้อมูล"นกเอี้ยงหงอน"
- นกเอี้ยงหงอน คืออะไร
- นกเอี้ยงหงอน กินอะไรเป็นอาหาร
- ลักษณะนกเอี้ยงหงอน
- ถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัย
- อุปนิสัย พฤติกรรม นกเอี้ยงหงอน
- การสืบพันธุ์ของนกเอี้ยงหงอน
- สถานภาพทางกฎหมาย
นกเอี้ยงหงอน คืออะไร
"นกเอี้ยงหงอน" ชื่อวิทยาศาสตร์ Acridotheres grandis, Frederic Moore, 1858 เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกเอี้ยง Sturnidae มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Great myna, White-vented myna และมีชื่ออื่นที่มักนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า "นกเอี้ยงเลี้ยงควาย" หรือ "นกเอี้ยงดำ"
เป็นนกที่มีความน่ารัก เนื่องจากมีขนหงอนอยู่บนหัว เป็นนกเอี้ยงที่พบได้บ่อยมากพอ ๆ กับ นกเอี้ยงสาริกา ต่างกันที่ นกเอี้ยงหงอนไม่มีการกระจายพันธุ์ในบริเวณภาคใต้ของไทย ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ขณะที่นกเอี้ยงสาริกาเป็นนกที่หาดูได้ง่ายมากๆ ในทุกภาคของประเทศไทย
นกเอี้ยงหงอน กินอะไรเป็นอาหาร
นกเอี้ยงหงอน ที่ แหลมผักเบี้ย เพชรบุรี; ภาพโดย lonelyshrimp.
อาหารของนกเอี้ยงหงอนมีหลากหลายมาก ตั้งแต่แมลง ไส้เดือน เมล็ดข้าว น้ำหวานจาก ดอกไม้ และผลไม้สุก โดยจะพบเค้าเดินๆวิ่งๆหาไส้เดือน แมลง หรือเมล็ดพืชกินบนพื้น เกาะบนหลังควายกินแมลง กินผลไม้สุกคาต้น อย่างเช่น ต้นมะละกอ และกินแมลงและน้ำหวานอยู่บนต้นไม้ที่ออกดอกสะพรั่ง
ลักษณะนกเอี้ยงหงอน
นกเอี้ยงหงอน มีลักษณะสีของขนปลายสุดของหางจะมีสีขาว และที่ส่วนปีกก็จะมีแถบสีขาวเช่นเดียวกัน ลักษณะเด่นชัดที่สำคัญของนกเอี้ยงหงอนก็คือ ขนหงอนสีดำ ซึ่งตั้งชูขึ้นบริเวณหน้าผาก ส่วนบริเวณ ของปากและขาจะเป็นสีเหลือง ขนาดของลําตัวเมื่อวัดจากจะงอยปากถึงปลายหาง มีความยาว ประมาณ 15-18 เซนติเมตร
นกเอี้ยงหงอน มีจุดเด่นคือ มีขนคลุมลำตัวสีดำสนิท และมีขนหงอนยาวบริเวณหน้าผาก โดยขนหงอนที่หน้าผากเป็นขนตั้งฟูๆ และสีตัวเป็นพื้นสีดำ มีปากแหลมยาวพอประมาณสีเหลืองถึงส้มสดเช่นเดียวกับขาและเท้าซึ่งยาวแข็งแรง เล็บเท้าสีดำ มีแถบสีขาวที่โคนขนปลายปีกทําให้ดูเป็นแถบสีขาวตัดกับสีดำสะดุดตา ขนคลุมโคนหางและ ขนปลายหางก็มีสีขาว ส่วนความยาวของขาเมื่อวัดจากโคนขาถึงปลายนิ้วเท้าจะมีความยาว ประมาณ 5-8 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน
ถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัย
นกเอี้ยงหงอน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศปากีสถาน จีน ชวา พม่า อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งในประเทศไทย สามารถพบนกเอี้ยงหงอน อาศัยอยู่ทุกภาค (ยกเว้นภาคใต้) กระจายพันธุ์อย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในเวียดนามเป็นนกที่หายาก และเป็นนกที่ถูกนำเข้าไปในสิงคโปร์และหลุดจากกรงไปอยู่ในธรรมชาติ ไม่ใช่นกดั้งเดิม
นกเอี้ยงหงอน ชอบอาศัยและหากินอยู่ตามที่โล่ง บริเวณชายบึงหรือบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ใกล้เคียงและสามารถพบเห็นได้ตามท้องนา และในเมือง บริเวณที่ราบจนถึงความสูง 1,525 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบในที่ราบ
อุปนิสัย พฤติกรรม นกเอี้ยงหงอน
นกเอี้ยงหงอน มีนิสัยชอบหากินอยู่ใกล้ๆ กับฝูงวัว ควาย มักชอบเกาะอยู่บนหลัง เพื่อจะจิกสะเก็ดของผิวหนังหรือส่วนของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และกินแมลงที่มาเกาะวัว ควาย เป็นอาหาร แต่ใน บางครั้งก็จะพากันเดินบนพื้นดินรอบ ๆ ฝูงวัว ควาย เพื่อจิกหาแมลงตามพื้นกินเป็นอาหารเช่นเดียวกัน และการที่นกเอี้ยงหงอนมีนิสัยชอบหากินใกล้ๆ วัว ควาย จนทำให้ผู้คนที่พบเห็น จึงพากันเรียกชื่อนกเอี้ยงหงอน ชนิดนี้ว่า "นกเอี้ยงเลี้ยงควาย" นั่นเอง
การสืบพันธุ์ของนกเอี้ยงหงอน
นกเอี้ยงหงอนจะมีการผสมพันธุ์กัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเตรียมรังไข่ สำหรับให้นกเอี้ยงหงอนวางไข่ ลักษณะรูปร่างของรัง นิยมจัดทำเป็นรูปหีบ ซึ่งจะมีลักษณะด้านหน้าของรังเปิด หลังคาลาดเท มีความลึกและความกว้าง 4 นิ้ว สูง 8 นิ้ว ภายในรังจะต้องมีวัสดุรองพื้น พวกใบไม้แห้งหรือหญ้าแห้งขดไว้ในรังไข่ แล้วนำไปแขวนไว้ด้านข้างของกรงเลี้ยงนกเอี้ยง
เมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้ว จะวางไข่ประมาณ 3-4 ฟอง แล้วใช้เวลาในการฟักไข่ประมาณ 12 วัน ภายหลังจากฟักออกเป็นตัวแล้ว ถ้าอยู่ในสภาพธรรมชาติ พ่อแม่นกเอี้ยงหงอนจะเป็นผู้คอยหาอาหารมาป้อนและเลี้ยงดูลูกนกเป็นอย่างดี ในกรณีที่นำนกเอี้ยงหงอนมาเพาะเลี้ยง หลังจากฟักออกจากไข่ได้ประมาณ 1 เดือน ต้องแยกลูกนกออกมาเลี้ยงเอง โดยใช้ผักและผลไม้ จําพวกกล้วยสุก มะละกอสุก ฝรั่งสุก แตงสุก เป็นอาหาร วิธีการให้อาหารลูกนกเอี้ยงหงอน ต้องใช้วิธีป้อน เนื่องจาก ลูกนกไม่สามารถจิกกินอาหารเองได้ ต่อมาเมื่อลูกนกอายุได้ 2 เดือน ก็สามารถใช้ปากจิกกินอาหารเองได้
สถานภาพทางกฎหมาย
นกเอี้ยงหงอน มีสถานภาพทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของประเทศไทย ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้