วิธีดำน้ำ ดูปะการังน้ำตื้น ยังไงให้ปลอดภัย สำหรับผู้เริ่มต้น มือใหม่หัดดำน้ำ ครั้งแรก.
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"การดำน้ำตื้น"
- การดำน้ำตื้น คืออะไร
- วิธีการหายใจ ขณะดำน้ำ
- วิธีการลอยตัวในน้ำ
- วิธีใช้ หน้ากากดำน้ำ
- วิธีใช้ ท่อหายใจ
- วิธีใช้ ตีนกบ
การดำน้ำตื้น คืออะไร
การดำน้ำตื้น snorkeling เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีประสบการณ์การดำน้ำมาก่อนก็ตาม เพื่อความปลอดภัยนักดำน้ำควรเลือกจุดดำน้ำที่ไม่แออัด หรือมีนักท่องเที่ยวไม่มากนัก และควรระมัดระวังตัวเสมอเมื่อดำน้ำโดยเฉพาะในเขตเรือหางยาว เรือเร็ว หรือกีฬาทางน้ำประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ควรนับจำนวนเพื่อนหลังดำน้ำเสมอ ที่สำคัญพยายามเกาะกลุ่มไว้อย่าแยกไปคนเดียวเด็ดขาด
การดำน้ำตื้นไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงหน้ากาก ท่อหายใจ ตีกบ และชูชีพ โดยอาศัยการลอยตัวที่ผิวน้ำ โดยมีเทคนิคง่ายๆ
วิธีดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น
วิธีการหายใจ ขณะดำน้ำ
หายใจ เข้า-ออกทางปากช้าๆ ให้เต็มปอดเหมือนการนั่งสมาธิ ปอดก็เปรียบเสมือนชูชีพประจำตัว ช่วยให้คุณลอยได้ดีขึ้น และควรฝึกหายใจทางปากให้ชิน
วิธีการลอยตัวในน้ำ
ในน้ำทะเลจะมีความหนาแน่นกว่าอากาศที่เราหายใจ เพราะน้ำทะเลมีสารละลายจำพวกเกลือ และแร่ธาตุอื่นๆ เจือปนอยู่มาก ดังนั้น จึงไม่ค่อยจมเวลาที่ลอยตัวอยู่ที่ผิวน้ำ การลอยตัวในน้ำ สามารถฝึกในที่ตื้นได้ดังนี้ คือ
เมื่อใส่อุปกรณ์ดำน้ำแล้ว ให้นอนคว่ำหน้ากางแขนและขาออก ลำตัวขนานกับผิวน้ำ โดยปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
วิธีใช้อุปกรณ์ดำน้ำ
1. วิธีใช้ หน้ากากดำน้ำ
หน้ากากดำน้ำ ช่วยไม่ให้น้ำสัมผัสกับหน้าและจมูกของคุณ ทำจากยางซิลิโคนนิ่มๆ มีสายรัดหน้ากากที่สามารถปรับแต่งให้กระชับได้ กระจกเป็นชนิดที่ทนต่อแรงดันของน้ำ และในบางรุ่นจะมีวาล์วระบายน้ำเวลาที่น้ำเข้าหน้ากากดำน้ำ
วิธีสวมหน้ากากดำน้ำ
สวมหน้ากากดำน้ำโดยทาบหน้าลงบนใบหน้า ระวังอย่าให้เส้นผมติดอยู่ระหว่างใบหน้ากับขอบหน้ากากดำน้ำ เพราะจะทำให้น้ำซึมเข้าไปได้ โดยการสวมสายรัดหน้ากาก อย่าให้บิด และค่อยปรับสายรัดหน้ากากให้กระชับพอดีกับใบหน้า
การป้องกันหน้ากากดำน้ำไม่ให้เป็นฝ้า
นำน้ำยากันฝ้า หรือแชมพูสระผมของเด็ก (ถ้าไม่มีทั้งสองอย่างก็สามารถใช้น้ำลายของเราเองได้) หยดลงบนกระจกด้านในเพียงเล็กน้อย ใช้นิ้วเกลี่ยให้ทั่ว ทิ้งไว้สักพักจึงค่อยๆล้างออกด้วยน้ำ ถ้าใช้น้ำยากันฝ้าก็ไม่จำเป็นต้องล้างน้ำออก
กรณีน้ำเข้าหน้ากาก
วิธีแรก ให้เงยหน้าให้พ้นน้ำ ขยับหน้ากากให้ห่างจากใบหน้าเล็กน้อย น้ำจะไหลออกไปเอง
วิธีที่สอง ไม่ต้องเงยหน้าจากน้ำ ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับของหน้ากาก แล้วยกขอบหน้ากากด้านล่างขึ้นเล็กน้อย พร้อมกับเงยคอขึ้น หายใจออกทางจมูก อากาศจะไล่น้ำให้ออกจากหน้ากาก จากนั้นปิดหน้ากากเข้าที่เดิม และหายใจทางปากตามปกติ ถ้าน้ำยังออกไม่หมดก็ทำซ้ำอีกครั้ง
2. วิธีใช้ ท่อหายใจ
ท่อหายใจ หรือ ท่ออากาศหายใจ จะช่วยให้คุณก้มหน้ากับผิวน้ำได้เป็นเวลานาน โดยไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมาหายใจ โดยคุณหายใจผ่านท่อหายใจ ท่อหายใจมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบธรรมดาและชนิดที่มีวาล์วระบายน้ำ เพื่อสะดวกในการระบายน้ำออกเมื่อมีน้ำเข้าท่อหายใจ
วิธีใช้ท่อหายใจ
ใช้ปากคาบแผ่นคาบในปาก (Mouth piece) ซึ่งเป็นแผ่นบางๆ โค้งตามรูปเกือบปลายสุดมีปุ่มเล็กๆ สองปุ่มยื่นออกมา (Bite) ให้ใช้ฟันคาบ (ไม่ใช่กัด) เพื่อช่วยรั้งแผ่นคาบไม่ให้ลื่นหลุด อย่าลืมปิดริมฝีปากให้สนิท เพื่อป้องกันน้ำเข้าปาก
กรณีมีน้ำในท่อหายใจ
พ่นลมออกทางปากแรงๆ คล้ายกับการเล่นเป่ากบของเด็กๆ แล้วหายใจเบาๆ เป็นช่วงๆ (เผื่อกรณีมีน้ำค้างอยู่ในท่อ) พ่นลมออกอีกครั้ง ถ้ายังมีน้ำค้างอยู่ในท่อหายใจ
3. วิธีใช้ ตีนกบ
ตีบกบ เป็นอุปกรณ์ดำน้ำที่จะช่วยให้การเคลื่อนไหวเวลาอยู่ในน้ำ เพราะในน้ำเราใช้เท้าเคลื่อนไหวมากกว่ามือ เมื่อใส่ตีนกบแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น ตีนกบมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบเปิดส้น คือ สวมบูทก่อนแล้วจึงสวมตีนกบ และแบบเปิดส้น คือ สามารถสวมตีนกบได้เลยเหมือนสวมรองเท้าปกติ ในการดำน้ำผิวน้ำนิยมใช้แบบเปิดส้นมากกว่า
วิธีใช้ตีนกบ
- นอนคว่ำขนานกับผิวน้ำ ไม่เกร็งลำตัวและขา
- เหยียดขาและปลายเท้าให้ตรงคล้ายเต้นบัลเล่ย์ แล้วเตะตีนกบขึ้น-ลงช้าๆ
- ไม่ต้องใช้มือช่วยพุ้ยน้ำ ให้ปล่อยมือไว้ข้างๆลำตัว
การเตะตีนกบขึ้นลงธรรมดา
เตะตีนกบสลับขาขึ้น-ลงช้าๆ กว้างๆ ขาเหยียดตรง ปลายเท้างุ้ม (งอพับได้เล็กน้อย) ไม่ต้องเกร็งมาก
การเตะตีนกบแบบกบว่ายน้ำ
งอเข่าเข้ามา รวบตีนกบให้ส้นเท้าชิดกัน เตะตีนกบออกไปด้านข้างขนานกับผิวน้ำ และบิดข้อเท้าเล็กน้อยให้ตีนกบเป็นตัวผลักน้ำออกแทนการใช้พลังจากเท้า
ท่านี้มีประโยชน์ คือ การเตะตีนกบท่านี้จะเ็ป็นแนวราบขนานกับผิวน้ำ จึงเหมาะกับการดำน้ำผิวน้ำช่วงที่น้ำตื้น หรือที่มีแนวปะการังใต้น้ำมาก เพราะเวลาเตะตีนกบจะได้ไม่โดนปะการัง
กรณีที่ไม่ใส่ตีนกบ
นอนคว่ำหน้าขนานกับผิวน้ำ กางแขนขาออกเล็กน้ำ แล้วลอยตัวนิ่งๆ ถ้าต้องการเคลื่อนไหว ควรว่ายท่ากบช้าๆ หายใจเอาอากาศให้เต็มปอดเข้า-ออกช้าๆ โดยไม่ต้องเงยหน้า ถ้าเหนื่อยให้พลิกตัวนอนหงายลำตัวขนานกับผิวน้ำจะได้ไม่โดนปะการัง
ที่มา : สำนักอุทยานแห่งชาติ. (2554). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.