ปลาปักเป้าหลังแดง พบที่ทะเลสาบสงขลา รายงานใหม่? ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น
ชื่อวิทยาศาสตร์?
ปลาปักเป้าหลังแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Carinotetraodon irrubesco TAN, 1999 เป็นปลาน้ำจืดไทยในสกุล Carinotetraodon ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาปักเป้าฟันสี่ซี่ (Tetraodontidae) โดยสัตว์ในวงศ์นี้อยู่ในอันดับปลาปักเป้า (Tetraodontiformes) และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Red-tailed Redeye Puffer.
การค้นพบ ในประเทศไทย
เมื่อต้นปีมีเห็นโพสต์ของคุณธเนศ หนูพรหม เอาปลาปักเป้าตัวนึง จับใส่ถาดมาโพสถามว่ามันคือปลาอะไร เขาบอกว่าจับมาจากทะเลสาบสงขลา แล้วก็มีแต่คนเข้าไปตอบว่า ปักเป้าสมพงษ์
ส่วนตัวเห็นตั้งแต่เป็นรูปมัวๆ แวบแรกก็มั่นใจมากว่า มันคือปักเป้าหลังแดง (Carinotetraodon irrubesco) แต่ปัญหาคือ ปักเป้าตัวนี้พบเฉพาะในลุ่มน้ำบันยัวซิน ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา และแม่น้ำซัมบัส ทางตะวันตกของกาลิมันตัน บนเกาะบอร์เนียว ไม่เคยมีรายงานจากที่อื่นนอกจากนี้มาก่อน แต่เนื่องจากยังไม่เห็นตัวจริงเลยได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจ
ปลาปักเป้าหลังแดง Carinotetraodon irrubesco; ภาพโดย แอด อ.
หลังจากนั้นอีกหนึ่งอาทิตย์ ปลาตัวอย่างเดินทางมาถึง กทม ชุดนึง ทางนี้ก็พยายามถ่ายรูปเก็บไว้ ก่อนจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางนำตัวอย่างไปเทียบกับตัวอย่างต้นแบบ เพราะว่าทะเลสาบสงขลานั้นไหลลงอ่าวไทย ในขณะที่ปักเป้าหลังแดงนั้นพบในแหล่งน้ำที่ไหลลงทะเลอันดามัน มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นคนละชนิด แต่มีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน ต้องเอามาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกทีนึง
ผมได้ประสานกับ Dr. Heok Hui Tan แห่ง Lee Kong Chian Natural History Museum ที่สิงคโปร์ คนที่ค้นพบปักเป้าท้องแดงจากบอร์เนียวและสุมาตรา พร้อมกับนำตัวอย่างไปตรวจสอบ
จนล่าสุด ท่านผู้เชี่ยวชาญได้สรุปผลการเทียบเคียงตัวอย่างออกมาว่า ปักเป้าที่พบในไทยตัวนี้ เป็นปักเป้าหลังแดง (C. irrubesco) รายงานใหม่ของประเทศอย่างแน่นอน เพราะเทียบกับตัวอย่างต้นแบบที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้ว ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนกันเลย แต่ก็ต้องรอให้ศึกษาเพิ่มเติมจากการทำ DNA ต่อไป
ตอนนี้ก็แน่นอนแล้วว่า ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งอาศัยของปักเป้าชนิดนี้ ซึ่งถูกค้นพบโดยบังเอิญด้วยเครือข่ายวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง และเป็นพื้นที่เหนือสุดของการกระจายพันธุ์เท่าที่มีการสำรวจพบ
เท่ากับว่า ตอนนี้ในเมืองไทยเราพบปักเป้าสกุลนี้ได้ถึงสองชนิด ได้แก่ ปักเป้าสมพงษ์ (C. lorteti) และปักเป้าหลังแดงชนิดนี้ นั่นเอง
เพิ่มเติม:
ปักเป้าสกุล Carinotetraodon นั้นมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ชนิด ทุกชนิดมีขนาดเล็กและนิสัยน่ารักกว่าปักเป้าสกุลอื่นๆ มาก ทำให้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันในวงการปลาสวยงาม
อย่างไรก็ตามนอกจาก ปักเป้าแคระ (C. travancoricus) จากอินเดียแล้ว ชนิดอื่นๆ เป็นของที่ค่อนข้างหาดูได้ยาก และไม่ค่อยมีคนนำเข้ามาให้เห็นเท่าไหร่