นกคุ่มอกดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะทั่วไป ชื่อสามัญ ลักษณะนิสัย กินอะไรเป็นอาหาร.
เนื้อหาข้อมูล"นกคุ่มอกด"
- นกคุ่มอกดำ คืออะไร
- นกคุ่มอกดำ กินอะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- การสืบพันธุ์ของนกคุ่มอกดำ
- อุปนิสัยของนกคุ่มอกดำ
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพของนกคุ่มอกดำ
นกคุ่มอกดำ คืออะไร
นกคุ่มอกดำ คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มสัตว์จำพวกนก ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ที่ดำรงชีวิตอยู่อาศัยตามป่าธรรมชาติในประเทศไทย
นกคุ่มอกดำเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์จำพวกนก ซึ่งสัตว์จำพวกนี้ เป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรง ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
นกคุ่มอกดำ กินอะไร
นกคุ่มอกดำ; ภาพโดย Hari K Patibanda.
อาหารนกคุ่มอกดำ กินเมล็ดหญ้า ธัญพืช แมลง และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆที่ อยู่ตามพื้นดิน หาอาหารโดยการเดินจิกไปตามพื้นดินเรื่อยๆ บางครั้งก็คุ้ยเขี่ยเช่นเดียวกับพวกไก่
ชื่อวิทยาศาสตร์
นกคุ่มอกดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Coturnix coromandelica (Gmelin, 1789) เป็นพันธุ์สัตว์ในสกุล Coturnix ซึ่งอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) โดยสัตว์ในวงศ์นี้อยู่ในอันดับไก่ (Galliformes) มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Rain Quail, Black-breasted Quail.
ความหมายของชื่อและการค้นพบ
ชื่อชนิด "coromandelica" เป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือชายฝั่ง Coromandel ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรก
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- อันดับ (Order) : Galliformes
- วงศ์ (Family) : Phasianidae
- สกุล (Genus) : Coturnix
ลักษณะทั่วไป
นกคุ่มอกดำ มีลักษณะเป็นนกที่มีขนาดเล็ก (17-18 ซม.) ลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายคลึงกับนกคุ่มญี่ปุ่นแทบจะแยกไม่ออกเมื่อดูในธรรมชาติ
ตัวผู้มีลายทางสีดำไม่สม่ำเสมอบริเวณ กลางอก คอหอยสีขาวและมีลายทางสีดำตรงกลาง กับมีลายขวางสีดำ 2 ลาย โดยลายหนึ่ง พาดตรงกลาง อีกลายหนึ่งพาดผ่านด้านล่างของคอหอย ด้านข้างและต้นขาสีน้ำตาลแดง และ มีลายขีดสีดำกระจายทั่วๆไป
ตัวเมียลักษณะคล้ายตัวเมียนกคุ่มญี่ปุ่น แต่มีลายจุดที่อกน้อยกว่า
การสืบพันธุ์ของนกคุ่มอกดำ
การสืบพันธุ์ของนกคุ่มอกดำ จะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน หรือระหว่างเดือน มีนาคม-ตุลาคม ทำรังตามพื้นดินโดยการขุดดินให้เป็นแอ่งเล็กน้อย บางครั้งก็นำใบไม้ใบหญ้ามารองที่รังเพื่อรองรับไข่ รังส่วนใหญ่จะอยู่ภายในซุ้มกอหญ้าหรือพืชต่างๆ ทำให้มองเห็นได้ค่อนข้างยาก
ไข่มีรูปไข่ ขนาดโดยเฉลี่ย 20.8 x 27.4 มม. สีของไข่มักจะแตกต่างกัน ตั้งแต่สีเหลืองแกมสีเนื้อ จนถึงสีเหลืองแกมสีน้ำตาลเข้ม มีรอยเปื้อนสีทึบหรือสีน้ำตาลทั่วๆ ไป ในแต่ละรังมีไข่ 6-8 ฟอง ตัวเมียตัวเดียวที่ทำการฟักไข่โดยเริ่มฟักเมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 18-19 วัน
ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ลืมตา มีขนอุยปกคลุมเต็มตัว และสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันทีหลังจากขนแห้ง หรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงหลังออกจากไข่ แม่จะพาลูกๆออกหาอาหารและคอยระวังภัยต่างๆ ให้ จนกระทั่งลูกๆ แข็งแรง หรือประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นลูกๆก็จะแยกจากแม่ไปหากินตามลำพัง
อุปนิสัยของนกคุ่มอกดำ
นกคุ่มอกดำ เป็นนกที่มีกิจกรรมและหากินในตอนกลางวัน พบอยู่เป็นคู่หรือฝูงเล็กๆ โดยพบตามทุ่งหญ้า และป่าละเมาะ ส่วนใหญ่จะอาศัยตามพื้นดิน เมื่อตกใจ หรือมีศัตรูจึงจะบินขึ้น โดยบินเรี่ยๆไปกับผิวดินและบินไปเป็นระยะทางประมาณ 10-20 เมตร ก็จะลงดินอีก บางครั้งก็หลบซ่อนตามพุ่มกอหญ้า ซึ่งสีสันกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมทำให้ศัตรูมองไม่ค่อยเห็นตัว
การแพร่กระจาย
เขตแพร่กระจายของนกคุ่มอกดำ มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ในเอเชียตะวันออกเฉียงได้พบในพม่า และไทย
สถานภาพของนกคุ่มอกดำ
นกคุ่มอกดำ เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบเฉพาะบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบได้ไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.