นกคุ่มญี่ปุ่น, นกกระทาญี่ปุ่น ลักษณะทั่วไป ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ กินอะไร อาหาร.
เนื้อหาข้อมูล"นกคุ่มญี่ปุ่น"
- นกคุ่มญี่ปุ่น คืออะไร
- นกคุ่มญี่ปุ่น กินอะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- การสืบพันธุ์ นกคุ่มญี่ปุ่น
- อุปนิสัย นกคุ่มญี่ปุ่น
- การกระจายพันธุ์
- สถานภาพ
นกคุ่มญี่ปุ่น คืออะไร
นกคุ่มญี่ปุ่น คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มสัตว์จำพวกนก ซึ่งเป็นนกอพยพในฤดูหนาว ที่ดำรงชีวิตอยู่อาศัยตามป่าธรรมชาติในประเทศไทย
นกคุ่มญี่ปุ่นเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์จำพวกนก ซึ่งสัตว์จำพวกนี้ เป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรง ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
นกคุ่มญี่ปุ่น กินอะไร
นกคุ่มญี่ปุ่น; ภาพโดย Dave Irving.
อาหารนกคุ่มญี่ปุ่น กินเมล็ดหญ้า ธัญพืช แมลง ตัวหนอน และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน หาอาหารโดยการคุ้ยเขี่ย และใช้ปากจิกกิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
นกคุ่มญี่ปุ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Coturnix japonica Temminck & Schlegel, 1849 เป็นพันธุ์สัตว์ในสกุล Coturnix ซึ่งอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) โดยที่สัตว์ในวงศ์นี้จะอยู่ในอันดับไก่ (Galliformes) นอกจากชื่อ นกคุ่มญี่ปุ่น แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกว่า นกกระทาญี่ปุ่น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Japanese Quail, Migratory Quail.
ความหมายของชื่อและการค้นพบ
ชื่อชนิดเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรก บางท่านก็จัดเป็นชนิดย่อยหนึ่งของนกคุ่มยุโรป หรือ Coturnix coturnix (Linnaeus) ซึ่งพบครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน โดยเขียนเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coturnix coturnix japonica (Temminck & Schlegel) แต่หลายท่านก็จัดเป็นคนละชนิดกัน หรือยกฐานะชนิดย่อยเป็นชนิด ดังที่ปรากฏในที่นี้
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- ลำดับ (Order) : Galliformes
- วงศ์ (Family) : Phasianidae
- สกุล (Genus) : Coturnix
ลักษณะทั่วไป
นกคุ่มญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นนกที่มีขนาดเล็ก (17-19 ซม.) แต่ใหญ่กว่าพวกนกคุ่ม(Quail) อื่นๆ มีลายขีดหรือลายทางสีเนื้อทางด้านบนลำตัว และมีลายทางเหนือตาลักษณะคล้ายคิ้วสีเนื้อหรือสีขาวเด่นชัด
ตัวผู้บริเวณอกเป็นสีน้ำตาลแดงแกมสีเนื้อ ปกติไม่มีลายใดๆ แต่จะมีลายขีดทางด้านข้างลำตัว และเหนือขาอ่อนเป็นสีน้ำตาลและขาว คอหอยสีน้ำตาลแดงทั้งหมด หรือสีขาวมีลายสลับสีน้ำตาลแกมดำ ตัวเมียมีลายจุดหรือลายขีดที่อกมาก ซึ่งแตกต่างจากพวกนกคุ่มอืด (Buttonquail) ต่างๆ
การสืบพันธุ์ นกคุ่มญี่ปุ่น
การสืบพันธุ์ของนกคุ่มญี่ปุ่น ไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ในธรรมชาติของนกคุ่มญี่ปุ่นในประเทศไทย นอกเหนือจากการนำมาเลี้ยงในกรง โดยที่นกคุ่มญี่ปุ่นตัวเมียหนึ่ง ๆ สามารถให้ไข่จำนวนมาก หรือประมาณ 250-300 ฟองต่อปี อายุเพียง 35-60 วัน ก็โตพอที่จะให้ไข่ได้อีก ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงนกคุ่มญี่ปุ่นมาก และมีการปรับปรุงพันธุ์เรื่อยๆ
อุปนิสัย นกคุ่มญี่ปุ่น
อุปนิสัยของนกคุ่มญี่ปุ่น เป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆและหากินในตอนกลางวัน พบตามทุ่งหญ้า และแหล่งกสิกรรมต่างๆ เป็นนกที่บินได้ดี แต่มักพบเดินตามพื้นดิน ยกเว้นตอนมีภัยเท่านั้นที่จะบินหนี แต่ก็บินในระดับที่ไม่สูงและระยะทางที่ไม่ไกลนัก ยกเว้นการบินในขณะที่อพยพ
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของนกคุ่มญี่ปุ่น มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม(ประเทศอินเดีย) จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบทั่วๆ ไป
สถานภาพ
ตามธรรมชาตินกคุ่มญี่ปุ่น เป็นนกที่อพยพมายังประเทศไทยในฤดูหนาว พบเฉพาะทางภาคเหนือตอนบนสุด หายากและปริมาณน้อยมาก
สถานภาพตามกฎหมาย กฎหมายยังไม่ได้จัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองใดๆ
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.