ว่านเพชรม้าล้านนา พันธุ์พืชชนิดใหม่ 2566 ชื่อวิทยาศาสตร์, ลักษณะเด่น กระจายพันธุ์.
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"ว่านเพชรม้าล้านนา"
- ว่านเพชรม้าล้านนา คืออะไร?
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ออกดอกช่วงเดือนไหน
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ว่านเพชรม้าล้านนา คืออะไร?
ว่านเพชรม้าล้านนา คือพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มกระเจียว หรือ ว่านเพชรม้าของไทย ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocots) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย ว่านเพชรม้าล้านนาเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ชื่อวิทยาศาสตร์
ว่านเพชรม้าล้านนา ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Curcuma maxwellii Škorničk. & Suksathan เป็นพันธุ์พืชในสกุล Curcuma ซึ่งอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) โดยพืชวงศ์นี้อยู่ในอันดับ Zingiberales.
ว่านเพชรม้าล้านนา Curcuma maxwellii
ในปีพ.ศ. 2566 คณะผู้วิจัยได้ขยายความร่วมมือกับเครือข่ายวิจัย โดยร่วมกับนาย Anders J. Lindström แห่งสวนนงนุช พัทยา และ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน แห่งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ในการศึกษากลุ่มของว่านเพชรม้าอย่างต่อเนื่อง และผลของการศึกษาอย่างละเอียด ทำให้สามารถจำแนกกระเจียวชนิดใหม่จากกลุ่มว่านเพชรม้าได้อีก 2 ชนิด
และได้บรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสำรวจการกระจายพันธุ์ของกระเจียวทั้ง 2 ชนิด ภายใต้การนำโดย Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลก และร่วมกันตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Phytokeys
โดยว่านเพชรม้าชนิดแรก ได้รับการตั้งชื่อว่า “ว่านเพชรม้าล้านนา” (Curcuma maxwellii Škorničk. & Suksathan) เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงคุณูปการของ ดร. James F. Maxwell อาจารย์และนักพฤกษศาสตร์ผู้อุทิศตัวในการศึกษาอนุกรรมวิธานพืชของประเทศไทยมากกว่า 40 ปีและเป็นภัณฑารักษ์ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พืช ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นผู้เก็บตัวอย่างว่านเพชรม้าล้านนาในปีพ.ศ. 2535 อีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ว่านเพชรม้าล้านนา มีลักษณะเป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 80 ซ.ม. ลำต้นใต้ดินรูปไข่ขนาดเล็ก เหง้าแขนงมีลักษณะผอม เนื้อด้านในลำต้นสีเหลือง ใบรูปไข่หรือไข่กว้าง แผ่นใบพับจีบ
มีลักษณะเด่นคือ ใบด้านไกลแกน (ท้องใบ) ไม่มีขน ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับ 15-34 ใบ มีสีเขียวอ่อนหรือสีแดงอ่อน มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบปาก สเตมิโนดและและอับเรณูมีสีเหลืองส้ม กลีบดอกมีสีแดง เกสรเพศผู้มีความยาว 16-18 มม. มียอดเกสรเพศผู้สั้นประมาณ 1 มม.
ออกดอกช่วงเดือนไหน
ว่านเพชรม้าล้านนา ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ว่านเพชรม้าล้านนา มีการกระจายพันธุ์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
ที่มา : Kasetsart University