ช้องแมว, คางแมว ชื่อสามัญ, สมุนไพรไทย ชื่อวิทยาศาสตร์, ลักษณะ, การใช้ประโยชน์
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"ช้องแมว"
- ช้องแมว คืออะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ออกดอกช่วงเดือนไหน?
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
- การใช้ประโยชน์และสรรพคุณ
ช้องแมว คืออะไร
ช้องแมว คือพืชชนิดหนึ่งในพรรณพืชสมุนไพรไทย ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย ช้องแมวเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms คือกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ชื่อวิทยาศาสตร์
ช้องแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Gmelina asiatica L. เป็นพันธุ์พืชในสกุล Gmelina ซึ่งอยู่ในวงศ์กะเพรา (Lamiaceae) โดยพืชวงศ์นี้อยู่ในอันดับ Lamiales.
ช้องแมว Gmelina asiatica
ชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อไทยเป็นชื่อทางการว่า คางแมว (khang maeo) ซึ่งอ้างอิงตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557)
นอกจากชื่อนี้แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น คางแมว (ภาคกลาง), หนามหนวดแมว (อ.ชุมพวง นครราชสีมา), นมแมว (อ.เมืองยาง นครราชสีมา), ก้างปลา (อ.กันทรารมย์ ศรีสะเกษ, อ.บ้านดุง อุดรธานี), ก้านจาง หนามเล็บแมว (อ.ศรีสงคราม นครพนม), ช้องแมว ช้องแมว (สกลนคร), กันจาย กันจาง (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์) เป็นต้น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Asian bushbeech, Asiatic beechberry, Badhara bush, Oval-leaf Gmelina.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ช้องแมว มีลักษณะเป็น ไม้พุ่มหรือรอเลื้อย สูงถึง 10 ม. กิ่งแก่และโคนต้นมีหนามที่เกิดจากกิ่งเก่า (ต้นอายุน้อยขอบใบหยักลึกเป็น 3 แฉก) ใบค่อนข้างคล้ายกับต้น ตีนซิ่นเหี้ยน (Glossocarya crenata) มีความแตกต่างที่โคนใบของข้องแมวมัก จะเป็นรูปลิ่มหรือแหลม และมีต่อมสีเขียวอ่อน 1-5 จุด เห็นชัดที่ผิวใบด้านบนใกล้โคนใบ
ช่อดอกแบบกระจุก ยาว 2-4 ซม. มี 1-10 ดอก ที่กลีบเลี้ยงมีต่อมกลมนูนชัดเจน 2-5 ต่อม กลีบดอกสีเหลือง รูประฆัง ยาว 3-5 ซม. ปลายแยก 4 แฉก
ส่วนผลเป็นรูปค่อนข้างกลม กว้าง 2-3 ซม. ผิวเรียบ เกลี้ยง มันเงา มีช่องอากาศสีขาว กระจายทั่ว มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลแก่ไม่แตก เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง-ดำ เนื้อนิ่ม มีเมล็ดเดียว เนื้อแข็ง (ตีนซิ่นเหี้ยน โคนใบมักจะเว้ารูปหัวใจ ไม่พบต่อมสีเขียวอ่อน ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก สีขาว ที่โคนกลีบเลี้ยงไม่มีต่อมกลมนูนใส และผลมีขนาดเล็กกว่ามาก เมื่อแก่แห้งแตก)
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
ช้องแมว ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ผลแก่เดือนพฤษภาคม-กันยายน
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
ช้องแมว เป็นพืชสมุนไพรไทยที่มีการกระจายพันธุ์ พบได้ง่ายทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในภูมิภาคเอเชียใต้ จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้ มีถิ่นอาศัยขึ้นตามที่โล่งแจ้งหรือชายป่า ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ หรือป่าบุ่งป่าทาม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.
การใช้ประโยชน์และสรรพคุณ
การใช้ประโยชน์จากช้องแมว
- สมุนไพร ใช้เปลือก ตากแห้ง ต้มน้ำดื่มหรือกินเปลือกสดกับข้าวทุกวัน ใช้กับหญิงมีครรภ์เป็นยาช่วยให้คลอดลูกง่าย, ใช้ราก ตากแห้งแล้วต้มน้ำดื่มแก้กินผิดสำแดง/ของแสลง
- วัสดุ เนื้อไม้แข็งแรง ปลวกไม่กิน ใช้ ทำเป็นแกนตับหญ้ามุงหลังคา หรือทำเป็นกงสวิง ลอบ ไซ
- ด้านอื่น พุ่มของเถาและกิ่งเป็นที่อยู่อาศัยและ หลบภัยของปลาในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากความรก ระเกะระกะ จึงไม่สามารถหว่านแหหรือเข้าไปวางตาข่ายจับปลาได้
ที่มา : มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. (2561). ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.