เต่าเหลือง, เต่าเพ็ก,เต่าเทียน ชอบกินอะไร ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะ ดูยังไง.
เนื้อหาข้อมูล"เต่าเหลือง"
- เต่าเหลือง คืออะไร
- ลักษณะของเต่าเหลือง
- เขตแพร่กระจาย
- ที่อยู่อาศัยของเต่าเหลือง
- เต่าเหลือง กินอะไรเป็นอาหาร
- ความแตกต่าง เพศผู้-เพศเมีย
- สถานภาพของเต่าเหลือง
เต่าเหลือง คืออะไร
เต่าเหลือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Indotestudo elongata (Blyth, 1853) เป็นเต่าในกลุ่มเต่าบกกระดองแข็ง (tortoises) อยู่ในอันดับ Testudines วงศ์ Testudinidae (เป็นเต่าในกลุ่มเดียวกับ เต่าหก และเต่าเดือย)
ซึ่งยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเรียกกันว่า เต่าเพ็ก พบชุกชุมที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น (ที่มาของชื่อ "เต่าเพ็ก" เรียกชื่อตามอาหารที่เต่าชอบกิน คือหญ้าเพ็ก ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ)
ส่วนทางภาคเหนือและภาคใต้ จะเรียกกันว่า เต่าเหลือง เต่าขี้ผึ้ง หรือ เต่าเทียน และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Elongated tortoise, Yellow-headed tortoise, Yellow tortoise, Pek tortoise
เต่าเหลือง(ตัวผู้) ที่ อช.ดอยภูนาง พะเยา; ภาพโดย Flora Ihlow.
ลักษณะของเต่าเหลือง
หัว (head) ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ทู่มน ปกคลุมด้วยแผ่นหนังสีเหลืองนวล หัว ประกอบด้วย ตา (eye) มีนัยน์ตากลมสีดำ มีหนังตาหุ้ม หู (ear) อยู่ด้านหลังของตาเหนือมุมปากเล็กน้อย จมูก (nostril) อยู่หน้าสุดของหัว มีรูจมูก 2 รู ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร
ปาก (mouth) อยู่ ส่วนล่างของหัว ริมฝีปากบนยาวกว่าริมฝีปากล่างเล็กน้อย ปากกว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ฟัน (teeth) แบบ cardiform ลักษณะเป็นแผ่นคม ขอบหยักคล้ายฟันเลื่อย อยู่บริเวณขอบปากด้านบนและด้านล่าง คอ (neck) มีผิวหนังสีเหลือง ย่นพับรวมกันเป็นชั้น คอยืดหดเข้ากระดองและหันไปซ้ายหรือขวาได้
ขา (leg) และ เท้า (foot) เต่าเหลืองมีขาและเท้า 4 ข้าง ขาหน้ายาวลักษณะเป็นแท่งรูปทรงกระบอก เท้าหน้าสีเหลืองหรือขาว เท้าหน้ามี 5 เล็บ ยาวและคม ขาหลังค่อนข้างยาว ลักษณะกลมคล้าย ขาช้าง พื้นเท้าหลังแบนมีเล็บ 4 เล็บ เล็บสั้นกว่าเท้าหน้า ขาทั้ง 4 ข้างมีสีเทาดำปกคลุมด้วยเกล็ดสีเหลืองแข็งและหนา
เต่าเหลืองเคลื่อนไหวช้า เมื่อก้าวเดินสามารถยืดขาออกมาจนสุด ซึ่งลักษณะเด่นของ พื้นเท้าที่แบนและขาที่มีลักษณะกลม แข็งแรง เล็บเท้ายาวและคมช่วยให้เต่าเหลืองปีนขึ้นที่สูงได้ดี แต่ไม่ สามารถว่ายน้ำได้ เป็นเหตุให้มักพบเต่าเหลืองตายเมื่อตกบ่อน้ำลึก และเมื่อถูกจับหรือตกใจจะหดหัวและขา ทั้ง 4 ข้างใต้กระดองจนมิด
หาง (tail) ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนปลายแหลม ประกอบด้วยช่องทวารหรือช่องขับถ่าย (cloaca) และช่องเพศเป็นช่องเดียวกัน
ลักษณะภายนอกที่เด่นชัดแตกต่างจากเต่าชนิดอื่น คือ กระดองหลัง และกระดองท้องมีสี เหลืองนวลสลับด้วยสีดำขนาดต่างๆ ปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ดกระดองหลัง และแผ่นเกล็ดกระดองท้องมองเห็น ชัดเจน แผ่นเกล็ดเหนือ โคนหางใหญ่ และงุ้มเข้าหาลำตัว ทำให้กระดองหลังมีลักษณะโค้งนูน สูง มีความชัน มองดูคล้ายหมวกทหาร
กระดองหลัง (carapace) มีสีเหลืองนวลสลับด้วยสีดำขนาดต่างๆ กระดองแข็ง และหนา ความยาวกระดองหลัง 21.3-32.0 เซนติเมตร กระดองหลังปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ด (horny shield หรือ scute) ซึ่งประกอบด้วยแผ่นเกล็ดสันหลัง (neural shield) 4 ชิ้น แผ่นเกล็ดชายโครง (costal shield) ข้างละ 4 ชิ้น แผ่น เกล็ดรอบกระดอง (marginal shield) ข้างละ 11 ชิ้น แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอ (nuchal shield) 1 ชิ้น และแผ่น เกล็ดเหนือ โคนหาง (supracaudal shield) 1 ชิ้น
กระดองท้อง (plastron) มีสีเหลืองนวลสลับด้วยสีดำขนาดต่างๆ ความยาวกระดองท้อง 17.1-24.7 เซนติเมตร ปกคลุมด้วยแผ่นเกล็ดกระดองท้อง เรียงชิดกัน 2 แถวเป็นคู่ๆ แถวละ 6 แผ่น
ประกอบด้วยแผ่นเกล็ดใต้คอ (gular shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดใต้โคนขาหน้า (humeral shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดอก (pectoral shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดท้อง (abdominal shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดโคนขาหลัง (femoral shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดก้น (anal shield) 1 คู่ แผ่นเกล็ดรักแร้ (inguinal shield) 1 คู่ และแผ่นเกล็ดขาหนีบ (axillary shield) 1 คู่
เขตแพร่กระจาย
เต่าเหลืองมีเขตแพร่กระจาย ตั้งแต่เนปาล บังคลาเทศ ถึงอัสสัม อินเดียตะวันออก ไปถึงพม่า ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลงไปจนถึงเมืองปีนังในมาเลเซีย
ถิ่นอาศัยของเต่าเหลือง
แหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าเหลือง มักจะพบอาศัยในบริเวณต้นน้ำ ลำธาร ลำห้วย ที่มีป่าทึบสลับกับป่าโปร่ง มีโพรงถ้ำและหน้าผา ส่วนเขตพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม ท้องนา ป่าชายเลนและบริเวณพื้นที่ใกล้ทะเล จะไม่พบเต่าเหลืองอาศัยอยู่ โดยทั่วไปพบเต่าเหลืองในช่วงต้นฤดูฝน เป็นช่วงที่เต่าเหลืองออกหาคู่ และผสมพันธุ์ ลักษณะการอยู่อาศัย เป็นแบบเดี่ยวๆ พบครั้งละ 1-2 ตัว กระจายตัวแบบกว้างๆ ไม่พบทีละหลายตัวในแห่งเดียวกัน
เต่าเหลือง กินอะไรเป็นอาหาร
เต่าเหลือง ออกหาอาหารในช่วงบ่ายหรือเย็น ตามบริเวณที่มีพืชใบอ่อนและลูกไม้ป่า อาหารเต่าเหลือง เช่น ผลมะเดื่อ บุก บอนส้ม ผลพญายอป่า เห็ดโคน หน่อเพ็ก และผลไม้สุกร่วงหล่นบนพื้นป่า ชอบซุกตัวหลบใต้กิ่งไม้ ใบไม้แห้งในตอนกลางวัน
อาหารเต่าบก Pro-Reptiles
- สำหรับเต่ากินจุ สูตร Original
- ผลิตจากโรงงานอาหารสัตว์ มีประสบการณ์กว่า 25ปี
- ไฟเบอร์สูง กลิ่นหอม
- กินง่าย โตไว คุ้มค่าต่อราคา
- อาหารเต่าบกที่ช่วยลดปัญหาเต่ากระดองปูด
- ใช้งานง่าย แช่น้ำ 1 นาที ประหยัดเวลาคนเลี้ยง
เต่าเหลืองเพศผู้-เมีย ดูยังไง
ความแตกต่างระหว่างเต่าเหลืองเพศผู้กับเพศเมีย เราสามารถแยกเพศเต่าเหลืองจากลักษณะภายนอกได้ โดยเต่าเหลืองเพศผู้มีแผ่นเกล็ดกระดองท้องเว้า และลึก โคนหางแคบ หางยาว และ แหลม
ตำแหน่งของรูทวารอยู่ค่อนมาทางปลายหาง แผ่นเกล็ดกระดองท้องที่เว้า และลึก ช่วยให้สะดวกในการปืนและพยุงตัวอยู่บนกระดองหลังเพศเมียขณะผสมพันธุ์ ส่วนเต่าเหลืองเพศเมียมีแผ่นเกล็ดกระดอง ท้องแบนเรียบ โคนหางกว้าง หางสั้น ตำแหน่งของรูทวารอยู่ค่อนมาทางโคนหาง
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ผิวหนังบริเวณปลายจมูกของเต่าเหลืองเพศผู้มีสีชมพูชัดเจน และแผ่นเกล็ดรอบกระดองจะเปลี่ยนจากสีเหลือง เป็นสีเหลืองเข้มขึ้นหรือสีส้ม เพื่อดึงดูดเต่าเหลืองเพศเมีย
สถานภาพของเต่าเหลือง
ปัจจุบันเต่าเหลืองนับเป็นสัตว์เลื้อยคลาน (reptiles) อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองลำดับที่ 89 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของประเทศไทย ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครองซึ่งสัตว์ป่าหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าสงวน เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์และต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
นอกจากนี้เต่าเหลืองยังอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือ CITES บัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ลำดับที่ 211
ซึ่งมีความหมายสำคัญ คือ เต่าเหลืองเป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องมีหนังสืออนุญาต และรับรองว่าการส่งออกเต่าเหลืองแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของเต่าเหลืองในธรรมชาติ