หญ้ายายเภา สรรพคุณ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ชื่อวิทยาศาสตร์, ประโยชน์, เครื่องจักสาน?
เนื้อหาข้อมูล "หญ้ายายเภา"
- หญ้ายายเภา คืออะไร
- ชื่อวิทยาศาสตร์ หญ้ายายเภา
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ออกอับสปอร์ช่วงเดือนไหน?
- การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
- การใช้ประโยชน์
หญ้ายายเภา คืออะไร
หญ้ายายเภา คือ ชื่อไทยที่ใช้เป็นชื่อทางการของพืชชนิดหนึ่ง (อ้างอิงตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557) ซึ่งยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น กระฉอก, กะฉอก, กิ๊กุโพเด๊าะ, กูดก้อง, กูดเครือ, กูดงอดแงด, กูดแพะ, กูดย่อง, ไก่ขู่, ตะเภาขึ้นหน, ตีนตะขาบ, ทุไก่โค, ผักตีนต๊กโต, เฟินตีนมังกร, รีบูบะซา, ลิเภาใหญ่, หมอยแม่ม่าย, หลีเภา และมีชื่อสามัญ (common name) ภาษาอังกฤษ ว่า Big Lygodium, Maidenhair creeper
ชื่อวิทยาศาสตร์ หญ้ายายเภา
หญ้ายายเภา มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Lygodium flexuosum (L.) Sw. จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Lygodiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หญ้ายายเภา มีลักษณะเป็นเฟินที่ลักษณะเลื้อยพัน ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าสั้นปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น แกนกลางใบคล้ายลำต้น มีลักษณะ เป็นเส้นค่อนข้างกลม เถาที่แตกจากเหง้าสีฟางแห้ง ส่วนโคนก้านสีน้ำตาลเข้ม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ชั้นแรกเป็นใบ ประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงตรงข้าม ยาวได้ถึง 50 ซม.
ใบประกอบชั้นที่สองเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มี 3-9 ใบ แขนงใบยาวได้ถึง 15 ซม. ใบย่อยมีรูปร่างหลายแบบ รูปขอบขนานถึงรูปสามเหลี่ยมยาว กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 5-15 ซม. ออกเรียงสลับ ก้านใบย่อยยาวได้ถึง 1 ซม. ใบย่อยที่สร้างอับสปอร์จะเรียวยาวและขอบใบเป็นจักหยาบกว่าใบที่ไม่สร้างอับสปอร์ มีกลุ่มอับสปอร์ยื่นออกจากขอบใบ กว้างประมาณ 1.5 มม. ยาวได้ถึง 1 ซม. เยื่อคลุมอับสปอร์เกลี้ยง
ออกอับสปอร์ช่วงเดือนไหน?
หญ้ายายเภา ออกอับสปอร์ช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. (แทงยอดอ่อนในเดือนเมษายนและยุบหายไปในเดือนธันวาคม)
การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา
การกระจายพันธุ์ของหญ้ายายเภา พบได้ทุกภาค พบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น
การใช้ประโยชน์
- ลำต้น ทำงานหัตกรรม ทำเครื่องจักสาน ทำเครื่องประดับ
- ใบอ่อนและยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด กับน้ำพริก
- ใช้ทั้งต้น สรรพคุณ เป็นยาขับเสมหะ