ปลากัดป่าไทย ปลากัดป่าแท้' ในธรรมชาติ พันธุ์พื้นเมืองของไทย' มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง.

เนื้อหาข้อมูล "ปลากัดป่า"

ปลากัดไทย

ปลากัดไทย เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันทั่วโลก เนื่องจาก เป็นปลาที่มีความสวยงาม มีความหลากหลายของสีสันและลวดลาย เลี้ยงง่าย ไม่ต้องใช้พื้นที่กว้างและไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเลี้ยงที่ยุ่งยาก กินอาหารได้ หลายชนิดทั้งอาหารสดและอาหารเม็ด ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพ แวดล้อมได้ดี

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตปลากัดเพื่อการส่งออกและมีมูลค่า การส่งออกอยู่อันดับหนึ่งของโลก มีแหล่งเพาะเลี้ยงจำนวนมากที่สุดอยู่ที่จังหวัด นครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง มีการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปริมาณและมูลค่า

ปลากัดไทย ปลากัดหม้อ

ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศและภูมิอากาศ ที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงปลากัด รวมทั้งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมีความสามารถ ในการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความสวยงามโดดเด่น มีลักษณะสีสันแปลกใหม่ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ กรมประมงร่วมกับผู้เพาะเลี้ยงและผู้พัฒนา สายพันธุ์ ได้ร่วมมือกันกำหนดลักษณะมาตรฐานสายพันธุ์ของปลากัดและ จัดให้มีการประกวดปลากัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงปลากัดได้พัฒนา สายพันธุ์ให้ตรงตามมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเกิด การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ ให้มีความหลากหลาย และยกระดับคุณภาพสินค้า ปลาสวยงามของไทยให้มีมูลค่าสูงและมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปลากัดป่าไทย มีกี่ประเภท

ปลากัดป่าของไทย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ปลากัดป่ากลุ่มก่อหวอด
  2. ปลากัดป่ากลุ่มอมไข่

ปลากัดป่า กลุ่มก่อหวอด

ปลากัดป่ากลุ่มก่อหวอด (Bubble-nest building betta) ปลากัดเพศผู้จะมีพฤติกรรมในการสร้างหวอด (bubble nest) เพื่อใช้เป็นที่ฟักไข่และเลี้ยงดูลูกปลาวัยอ่อน โดยการพ่นฟองอากาศ ที่มีของเหลวจากปากผสมกันให้เกาะเป็นกลุ่ม สำหรับปลาเพศเมีย ก็อาจมีพฤติกรรมดังกล่าวเช่นกันเมื่อพร้อมที่จะผสมพันธุ์ แต่ขนาดของหวอด จะเล็กกว่าเพศผู้

1. ปลากัดป่าภาคกลาง,ภาคเหนือ

ปลากัดป่าภาคกลางและภาคเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens Regan, 1910 (ชื่อสกุล Betta หมายถึง "นักสู้" คำระบุชนิด splendens หมายถึง ความสวย ความงดงาม) โดยนักมีนวิทยาชาวอังกฤษ ชาลส์ เทต รีกัน (Charles Tate Regan) เป็นผู้พิสูจน์ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี พศ.2453 โดยช้อนปลาตัวอย่างได้มาจากกรุงเทพฯนี่เอง มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Siamese fighting fish

ปลากัดป่าภาคกลาง,ภาคเหนือ Betta splendens

ปลากัดป่าภาคกลาง,ภาคเหนือ Betta splendens

ปลากัดป่าภาคกลางและภาคเหนือ สายพันธุ์นี้ มีอุปนิสัยที่ดุและก้าวร้าวที่สุดในทุกสายพันธุ์ เป็นต้นตอของปลากัดหม้อหรือปลากัดเก่งที่ใช้ในการแข่งขันต่อสู้กัน เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และถูกนำไปผสม คัดเลือกพันธุ์จนเกิดเป็นปลากัดสวยงามรูปแบบต่าง ๆ ส่งผล ๆ ให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ลักษณะทางด้านกายภาพ

  • ส่วนหัว: มีสีดำเป็นเขม่า ที่แก้มมีขีดแดงสดถึงสีส้มหรือออกสีเงาเงิน1-2ขีด ซึ่งบางแหล่งแก้มไม่มีสีเลย(ส่วนหัวเป็นเขม่าทั้งหมด)ก็มี
  • เกล็ด: อาจมีสีเขียวหรือฟ้าออกเหลือบทองขึ้นประปรายตามแถบด้านบนลำตัวแต่ไม่ขึ้นเต็มมาถึงด้านล่างส่วนท้องของลำตัว หรือบางแหล่งเกล็ดไม่ขึ้นสีเลยก็ได้
  • ครีบก้นหรือชายน้ำ: พื้นเนื้อและเส้นก้านครีบเป็นสีแดง ส่วนมากมักมีสีเขียวหรือฟ้าขึ้นแซมแค่ปลายๆก้านครีบของแต่ละเส้น ส่วนท้ายๆของปลายชายน้ำจะเป็นสีแดงทั้งหมด
  • ครีบท้องหรือตะเกียบ: มองดูแล้วต้องยาวเรียว มีสีแดงเส้นก้านแข็งด้านหน้าเป็นสีดำ ส่วนสุดปลายก้านตะเกียบเป็นสีขาว
  • ครีบหาง: มีทั้งทรงพัดและโพธิ์ พื้นเป็นสีแดงขอบดำ มีก้านครีบของหางเป็นสีแดงมีปลายก้านแตกเพียงสองก้านเท่านั้น และมีเส้นแทบสีเขียวหรือฟ้าวิ่งแซมกลางระหว่างก้านครีบหางโดยส่วนใหญ่เส้นนี้จะวิ่งจากโคนแต่ไม่ถึงสุดปลายหาง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์

แหล่งที่สำรวจพบเจอบริเวณภาคกลางของประเทศไทย และทางภาคเหนือก็พบเจอได้ตั้งแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปสุดขอบเชียงรายเลยไปด้านฝั่งเชียงตุงรัชฉาน ตลอดจนข้ามฝั่งแม่สอดไปในเขตเมืองเมียวดี แห่งรัฐกระเหรี่ยงเมียนม่าร์ก็มีการสำรวจพบเจอ ส่วนทางภาคใต้พบตั้งแต่กรุงเทพฯลงมาจนสุดจังหวัดชุมพรและระนอง อาจมีไปถึงฝั่งพม่าด้วยก็เป็นได้ (อาจพบได้น้อยหรือไม่พบในบริเวณจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม)

สำหรับทางด้านภาคตะวันออก จากที่ออกสำรวจมาสามารถพบเจอได้ตั้งแต่กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ตราดและมีล้นออกไปถึงเกาะกง ฝั่งประเทศกัมพูชาอีกด้วย (มาเว้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและบางอำเภอต้นๆของจังหวัดชลบุรีที่ไปพบเจอแต่ปลากัดภาคตะวันออก Betta siamorientalis)

2. ปลากัดป่าภาคอีสาน

ปลากัดป่าภาคอีสาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta smaragdina Ladiges, 1972 (คำระบุชนิด smaragdina หมายถึง สีเขียวหรือตัวเขียวมรกตนั่นเอง) โดย นักวิจัยชาวเยอรมัน แวร์เนอร์ ลาดีเกส (Werner Ladigas) เป็นผู้พิสูจน์ได้ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ที่มีความแตกต่างจากปลากัดภาคกลางและชนิดอื่นที่มีอยู่ในโลก เมื่อปี พศ.2515 ซึ่งได้ปลากัดต้นแบบนี้มาจากเมืองโคราชในประเทศไทยเรานี่เอง มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Emerald Green Betta, Mekong Fighting Fish, Blue Betta

ปลากัดป่าภาคอีสาน Betta smaragdina

ปลากัดป่าภาคอีสาน Betta smaragdina

ระยะต่อมาความนิยมในการแข่งขันกัดปลาสายนี้ในภาคอีสานมีการขยายตัวสูงมาก เซียนพนันและนักเพาะปลากัดหลายๆท่านพยายามนำมาผสมกับปลากัดเก่งสายพันธุ์ "splendens" เพื่อพัฒนาใช้ในการต่อสู้ ให้มีลูกอาฆาตดุร้าย แข็งแกร่งทนทานมากยิ่งขึ้น แต่เพราะความแตกต่างกันค่อนข้างมากทางด้านยีน(DNA.) ส่วนใหญ่เพาะพันธุ์ไม่ประสบผลเท่าไหร่ กล่าวคือรัดไข่ได้แล้วไม่เป็นตัวบ้าง เป็นตัวได้ 2-3วันก็ร่วงตายหมด บางครั้งได้ลูกก็รอดมาเพียงไม่ถึงสิบตัว พอโตมาก็อาจกัดไม่เก่งดังคาดหวังและส่วนใหญ่ปลาก็มีโอกาสเป็นหมันได้สูง

ที่กล่าวมา ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครทำได้สำเร็จเลย มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักกับ "ปลาสายกัดเก่งอีสานลูกผสม" ที่กัดทนทานได้นานราว 2-3 ชั่วโมง และมีอีกวิธีที่เซียนเพาะปลาอีสานนำมาใช้ คือนำเอาปลากัดตามแหล่งธรรมชาติตัวที่เก่งมาผสมกับอีกแหล่งที่เก่ง พัฒนาอย่างนี้แบบลักษณะข้ามเหล่าไปเรื่อยๆ "ปลากัดเก่งอีสานสายดั้งเดิม" ก็สามารถกัดเก่งได้ไม่แพ้กับปลากัดอีสานลูกผสมเหมือนกันแต่อาจต่างกันที่ลักษณะ โครงสร้างอยู่บ้าง ที่ปลากัดเก่งดั้งเดิมจะมีรูปทรงที่กลมเพรียวบางกว่า

ลักษณะทางด้านกายภาพ

  • ส่วนหัว: เป็นเขม่าดำ มีเกล็ดสีเขียววาวเรียงรายลอยขึ้นอยู่เต็มหน้า มองคล้ายหน้าเหมือนงูเขียว 
  • เกล็ด: มีสีเขียวเงาวาวเรียงแน่นเป็นแถวแบบสลับฟันปลา มองคล้ายราวกับมีเส้นตะข่ายบางๆคลุมทั้งตัว
  • ครีบก้นหรือชายน้ำ: พื้นเนื้อและก้านครีบเป็นสีแดง มีเส้นสีเขียวหรือฟ้าขึ้นแซมจากโคนถึงปลายระหว่างก้านครีบของแต่ละเส้น
  • ครีบท้องหรือตะเกียบ: ต้องยาวเรียว สีแดงถึงน้ำตาลมีขอบสีดำ ปลายตะเกียบสีขาว
  • ครีบหาง: พื้นเป็นสีเขียวถึงเหลือบฟ้า ก้านครีบหางจะมาแตกที่ปลายเป็นง่ามสองเส้นและมีสีแดงวิ่งบริเวณก้านหางตลอดทั้งเส้นตั้งแต่โคนจนสุดปลายก้าน ขอบหางไม่มีสีดำแต่จะมีสีเขียวถึงฟ้า(สีเดียวกันกับพื้นหาง)วิ่งจากขอบหางย้อนเข้ามาถึงระหว่างง่ามครีบที่แตกปลาย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์

พบได้ตั้งแต่ประตูภาคอีสานจังหวัดนครราชสีมาไปจนสุดประเทศไทย และข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวก็สำรวจพบเจออย่างมากมาย จนเห็นกับตาว่าคนที่นั่นนำเอาปลากัดป่าพวกนี้มาประกอบเป็นอาหารกัน ส่วนบริเวณบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬนั้นมีปลากัดที่เรียกกันเป็นตำนานว่า ปลากัดป่า"กีต้าร์"บ้าง "ปลากัดหางลาย"บ้าง ปลาแหล่งนี้จะมีลักษณะความพิเศษเฉพาะตัวอยู่หลายจุดหลายประการที่แตกต่างจากลักษณะปลาอีสานทั่วไป ที่เห็นได้ชัดคือบริเวณพื้นหางจะมีลายเส้นสีแดงออกดำวิ่งรอบวงหาง ลักษณะนี้คล้ายเส้นใยแมงมุม เส้นนี้อาจมากน้อยหรือมีสุดปลายหางอย่างไรขึ้นอยู่กับความสวยงามของปลาตัวนั้นๆ(ยิ่งมีมากยิ่งสวยงาม) จุดสังเกตนี้ทำไมเราถึงไม่พบปลาลักษณะนี้ในจังหวัดอื่นของประเทศไทยบ้าง ทำให้อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าปลาตัวนี้อาจเป็น "สายพันธุ์ใหม่ของโลก"อีกตัวก็เป็นได้

3. ปลากัดป่าภาคใต้

ปลากัดป่าภาคใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta imbellis Ladiges, 1975 (คำระบุชนิด imbellis เป็นภาษาลาตินหมายถึง รักสงบ) ได้ถูกพิสูจน์สายพันธุ์ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกโดย แวร์เนอร์ ลาดีเกส (Werner Ladigas) เมื่อปีพศ.2518 ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับผู้พิสูจน์ปลากัดป่าภาคอีสาน มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Peaceful Betta, Crescent betta

ปลากัดป่าภาคใต้ Betta imbellis

ปลากัดป่าภาคใต้ Betta imbellis

ปลากัดป่าภาคใต้นี้ ดั้งเดิมมีความกร้าวร้าวน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มก่อหวอดที่พบเจอในเมืองไทย แต่ระยะต่อมาแถบภาคใต้มีความนิยมกัดปลาเพื่อการต่อสู้แข่งขันกันมากขึ้น จึงได้นำปลากัดเก่ง สายพันธุ์ "splendens" เข้ามาผสมกันมาก (เรียกตามภาษาเซียนกัดปลาว่า แก้มเขียวลูก50 ลูก75 ลูก25) จนมีการปนเปื้อนลงในแหล่งที่มีปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมอาศัยอยู่ตามธรรมชาติมากมาย มาระยะหลังจึงมักสำรวจพบเจอแต่ปลากัดภาคใต้ที่มีลักษณะดั้งเดิมแต่มีความดุและก้าวร้าวพอๆกันกับทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในเมืองไทย

ลักษณะทางด้านกายภาพ

  • ส่วนหัว: เป็นเขม่าดำ ที่แก้มมีขีดสีเขียวถึงฟ้าสองขีด ซึ่งบางตัวอาจมีสีเขียวเคลือบเต็มแก้ม
  • เกล็ด: มีสีเขียวถึงฟ้าเข้ม แต่สีเม็ดเกล็ดจะขึ้นเรียงลอยเต็มตัวหรือขึ้นประปรายก็ได้ แล้วแต่ลักษณะเฉพาะแหล่งนั้นๆ
  • ครีบก้นหรือชายน้ำ: พื้นเนื้อและก้านครีบเป็นสีแดง มีสีเขียวหรือฟ้าขึ้นแซมเป็นเส้นระหว่างก้านครีบของแต่ละเส้น(เส้นสีเขียวหรือฟ้านี้จะขึ้นระหว่างปลายก้านจนถึงโคนก้านหรือไม่ถึงก็ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามของแต่ละแหล่งนั้นๆ) ส่วนท้ายๆของปลายชายน้ำจะเป็นสีแดงสดทั้งหมด
  • ครีบท้องหรือตะเกียบ: มองดูแล้วต้องยาวเรียว มีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบมีสีขาว
  • ครีบหาง: ส่วนมากเป็นทรงกลมและทรงพัด ส่วนรูปทรงใบโพธิ์ก็พบเจออยู่บ้าง พื้นโคนหางและโคนเส้นก้านครีบเป็นสีแดงเข้มออกดำ มีบริเวณปลายครีบหางเป็นสีแดงสด(ปลายก้านแตกสอง) และมีเส้นแทบสีเขียวหรือฟ้าวิ่งแซมกลางระหว่างก้านครีบหางโดยส่วนใหญ่เส้นนี้จะวิ่งจากโคนแต่ไม่ถึงสุดปลายหาง ทำให้มองหางโดยรวมแล้วเสมือนว่าปลายหางมีเส้นวงสีแดงป้ายอยู่ คล้ายวงพระจันทร์ หรือมักจะเรียกกันว่า "วงพระจันทร์แดง" หรือ "หางพระจันทร์เสี้ยว" นั่นเอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์

แหล่งที่สำรวจพบเจอ ในภาคใต้ตั่งแต่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงไปจนสุดดินแดนไทยและมีสำรวจพบเจอในแถบของประเทศมาเลเซียอีกด้วย

4. ปลากัดป่ามหาชัย

ปลากัดป่ามหาชัย ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta mahachaiensis Kowasupat et al., 2012 (คำระบุชนิด หมายถึง พบที่ อ.มหาชัย) มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Mahachai Betta เป็นปลากัดป่าชนิดแรก ที่ใช้ชื่อคำระบุชนิดเป็นภาษาไทย โดยกลุ่มนักวิชาการคนไทยนำทีมวิจัยโดย รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ จากมหาลัยมหิดล สามารถพิสูจน์จนเป็นที่รู้จักและยอมรับต่อชาวไทยและนานาประเทศ ว่าเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555

ปลากัดป่ามหาชัย Betta mahachaiensis

ปลากัดป่ามหาชัย Betta mahachaiensis

ลักษณะทางด้านกายภาพ

  • ส่วนหัว: เป็นเขม่าดำ แก้มมีขีดสีเขียวหรือฟ้าแวววาวสองขีดบางตัวอาจมีขีดแก้มเคลือบเขียวไปถึงคาง
  • เกร็ด: เป็นปลาเกล็ดใหญ่ พื้นผิวที่ลำตัวมีสีน้ำตาลแดงออกดำ เม็ดสีของเกล็ดมีสีเขียวถึงฟ้าแวววาววับ เรียงเสมอกันเป็นแนวคล้ายแถวเมล็ดข้าวโพดบนฝัก
  • ครีบก้นหรือชายน้ำ: พื้นเนื้อและก้านครีบเป็นสีแดงเข้มออกดำ มีเส้นสีเขียวถึงฟ้าแวววาวขึ้นแซมจากโคนถึงปลายระหว่างก้านครีบของแต่ละเส้น
  • ครีบท้องหรือตะเกียบ: เป็นสีแดงแต่ต้องมีก้านแข็งเส้นหน้าสะท้อนแสงเป็นสีเขียวถึงฟ้า
  • ครีบหาง: เป็นทรงใบโพธิ์เสียส่วนมาก สีพื้นของหางเขียวถึงฟ้าแวววาว ก้านครีบหางเป็นลักษณะคล้ายกับปลากัดภาคอีสาน คือจะมาแตกที่ปลายเป็นง่ามสองเส้นและมีสีแดงเข้มจนออกดำวิ่งบริเวณก้านหางตลอดทั้งเส้นตั้งแต่โคนจนสุดปลายก้าน ขอบหางไม่มีสีดำแต่จะมีสีเขียวถึงฟ้าแวววาววิ่งจากขอบหางย้อนเข้ามาถึงระหว่างง่ามครีบที่แตกปลาย
  • เหงือก: เป็นปลาชนิดเดียวที่เวลาพองข่มคู่ต่อสู้แถกเหงือกจะมีสีน้ำตาลแดงถึงดำ ซึ่งต่างกับลักษณะปลากัดชนิดอื่นที่แถกเหงือกแล้วจะมีสีแดงสดถึงแดงเข้มเลือดหมู

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์

การแพร่กระจายพันธุ์ของปลากลุ่มก่อหวอดทุกสายพันธุ์ที่กล่าวมาในครั้งนี้ จะสังเกตได้ว่าทุกสายพันธุ์มีการแพร่กระจายตัวล้นออกไปในแต่ละประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับประเทศไทย เราจึงไม่ถือว่าปลากัดดั้งเดิมพวกนี้เป็นปลาของไทยได้อย่างแท้จริง แต่ปลากัดป่ามหาชัยจะสำรวจพบการแพร่กระจายตัวในบริเวณแคบๆเพียงจังหวัดสามสมุทรและแถบๆใกล้เคียงเท่านั้น ตั้งแต่กรุงเทพฯเขตบางขุนเทียนและสมุทรสาครไปถึงบางส่วนของจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนทางด้านเขตสุขสวัสดิ์ก็สำรวจพบเจอไปถึงบางส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในภาวะปัจจุบันความเจริญจากกรุงเทพฯและการพัฒนาจากเมืองใหญ่กำลังขยายตัวล้นออกมาเรื่อยๆ ทำให้เกิดความต้องการใช้พื้นที่ในการประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตลอดจนการสร้างที่อยู่อาศัยอย่างมากมาย หลากหลายบริเวณที่เคยเป็นป่าอันสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดมหาชัยดังกล่าว ถูกทำลายด้วยการปรับพื้นถมที่ เพื่อรองรับความเจริญที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา จึงเป็นภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลากัดมหาชัยจากธรรมชาติอย่างมาก

ถึงกับมีหน่วยงานอนุรักษ์ระดับนานาชาติอย่างเช่น "ไซเตส" ขึ้นกำหนดให้ปลากัดป่ามหาชัย เป็นสัตว์สงวนชนิดพันธุ์บัญชีหมายเลข 2 (Appendix II)เป็นสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ ยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตและรับรองการส่งออกในแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

5. ปลากัดป่าภาคตะวันออก

ปลากัดป่าภาคตะวันออก ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta siamorientalis Kowasupat et al., 2012 (คำระบุชนิด siamorientalis หมายถึงตะวันออกแห่งประเทศสยาม หรือภาคตะวันออกของประเทศไทยนั่นเอง) มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Kabinburi Betta, Black imbellis betta เป็นปลากัดป่าชนิดล่าสุด ที่พิสูจน์ให้นานาชาติได้รับรู้โดยฝีมือทีมวิจัยแห่งมหาลัยมหิดลอีกเช่นกัน เป็นปลากัดป่าน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งถูกขึ้นทะเบียนกำหนดให้เป็นปลาชนิดใหม่ของโลก เมื่อต้นปี พศ.2556 ที่ผ่านมานี่เอง

ปลากัดป่าภาคตะวันออก Betta siamorientalis

ปลากัดป่าภาคตะวันออก Betta siamorientalis

ปลากัดป่าตะวันออกชนิดนี้ จากที่สังเกตุเห็นว่ามีอุปนิสัยความก้าวร้าวพอๆกับปลากัดป่าภาคกลาง "splendens" อาจเป็นไปได้ว่าน่าจะถูกนำมาพัฒนาเป็นปลากัดเก่งเมืองแปดริ้ว หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า "ปลากัดหม้อ" ซึ่งลักษณะสีสันเป็นปลากัดลายประดู่

ลักษณะทางด้านกายภาพ

  • ส่วนหัว: เป็นเขม่า แก้มมีจุดหรือขีดสีแดงหรือไม่มีเลย
  • เกร็ด: มีเม็ดสีเขียวถึงฟ้าขึ้นบนเกล็ดเล็กน้อย เมื่อเวลาปลาเข้าสี ผิวหนังจะเข้มเป็นสีดำทำให้ดูเม็ดสีบนเกล็ดที่มีน้อยประกายแวววาวขึ้นมาทันที การเรียงตัวเม็ดสีของเกล็ดอาจมีขึ้นประปรายหรือขึ้นเสมอกันตลอดทั้งตัว แล้วแต่ลักษณะความเฉพาะตัวของแหล่งนั้นๆ
  • ครีบก้นหรือชายน้ำ: พื้นเนื้อและก้านครีบเป็นสีแดงเข้มออกดำ มีเส้นสีเขียวถึงฟ้าแวววาวขึ้นแซมเป็นเส้นระหว่างก้านครีบของแต่ละเส้น(เส้นสีเขียวหรือฟ้านี้จะขึ้นระหว่างปลายก้านจนถึงโคนก้านหรือไม่ถึงก็ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามของแต่ละแหล่งนั้นๆ) ส่วนท้ายๆของปลายชายน้ำจะเป็นสีแดงสดทั้งหมด
  • ครีบท้องหรือตะเกียบ: มองดูแล้วต้องยาวเรียว มีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบมีสีขาว
  • ครีบหาง: ส่วนมากเป็นทรงกลมและทรงพัด ส่วนรูปทรงใบโพธิ์ก็พบเจออยู่บ้าง พื้นโคนหางและโคนเส้นก้านครีบเป็นสีแดงเข้มออกดำ มีบริเวณปลายครีบและก้านแตกสองเป็นสีแดงสด และมีเส้นแทบสีเขียวหรือฟ้าวิ่งแซมกลางระหว่างก้านครีบหางโดยส่วนใหญ่เส้นนี้จะวิ่งจากโคนแต่ไม่ถึงสุดปลายหาง มองครีบหางราวกับมี "วงพระจันทร์แดง" หรือ "หางพระจันทร์เสี้ยว" อยู่ที่ปลายหาง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์

แหล่งที่สำรวจพบเจอปลากัดป่าตะวันออก พบตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศเวียดนาม มายังแถบตะวันตกของประเทศกัมพูชาและมาสิ้นสุดที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย (สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและบางอำเภอของจังหวัดชลบุรี)

ปลากัดป่า กลุ่มอมไข่

ปลากัดอมไข่ หรือ ปลากัดป่ากลุ่มอมไข่ (Mouth-brooding betta) เป็นปลากัดในกลุ่มเลี้ยงลูกในปาก (Mouth-brooding betta) มีลักษณะที่ต่างจากปลากัดก่อหวอดที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มีส่วนหัวโต ตัวมักมีสีน้ำตาล หรือสีนวล และมีลายสีคล้ำพาดแนวยาว ในตัวผู้มีปากกว้างกว่า ริมฝีปากหนาโดยเฉพาะช่วงฟักไข่

ปลากัดป่าไทย ปลากัดป่าแท้ ธรรมชาติ พันธุ์พื้นเมืองไทย..มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ปลากัดอมไข่ ชนิดต่างๆ

ปลากัดอมไข่ ตัวผู้จะอมไข่หลังจากผสมแล้วในกระพุ้งแก้ม รอจนกว่าฟักเป็นตัวจึงปล่อยออกมาเลี้ยงดูข้างนอก ตัวผู้มักมีสีเหลือบฟ้าหรือเขียวสดใสกว่าตัวเมียที่เป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีแถบข้างลำตัว 1-3 แถบ ขนาดโตสุด 9 เซนติเมตร

ปลากัดอมไข่ กินอะไรเป็นอาหาร

ปลากัดอมไข่ กินแมลงน้ำขนาดเล็กและแพลงก์ตอนสัตว์

ถิ่นอาศัย ปลากัดอมไข่

ปลากัดอมไข่ มีถิ่นอาศัยในลำธารขนาดเล็กและแหล่งน้ำนิ่ง ในป่า และพรุที่มีสภาพดีมาก ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย

ปลากัดอมไข่ หรือ ปลากัดป่าในกลุ่มอมไข่ พันธุ์พื้นเมืองของไทย พบอย่างน้อย 8 ชนิด ได้แก่

1. ปลากัดอมไข่สีจาง

ปลากัดอมไข่สีจาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta pallida Schindler & Schmidt, 2004 หัวค่อนข้างโต ขีดสีคล้ำ เส้นล่างสุดไม่ต่อกัน ปลายครีบหางมนเท่านั้น พบในลำธารของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร

2. ปลากัดอมไข่ตะวันออก

ปลากัดอมไข่ตะวันออก ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta prima Kottelat, 1994 คล้ายกับชนิดก่อน แต่ครีบหาง มีปลายแหลมกว่า ขีดสีคล้ำ เส้นล่างสุดต่อกันเกือบเป็นเส้นเดียว พบในลำธารของต้นน้ำบางปะกง และภาคตะวันออก อาจลงมาในที่ราบลุ่มในฤดูน้ำหลาก ขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร

3. ปลากัดอมไข่กระบี่

ปลากัดอมไข่กระบี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta simplex Kottelat, 1994 มี 2 แบบ คือ หางมีสีเรียบ และหางมีลายดอก ซึ่งอาจเป็นคนละชนิดกัน มีลักษณะสำคัญคือ ครีบก้นและขอบครีบหางมีแถบสีดำ แก้มมีสีเหลือบฟ้า ในตัวผู้ แต่ทั้ง 2 แบบ พบเฉพาะในแหล่งน้ำซับจากเขาหินปูนของจังหวัดกระบี่เท่านั้น ขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร

4. ปลากัดอมไข่พรุ (ปลากัดช้าง)

ปลากัดอมไข่พรุ (ปลากัดช้าง) ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta pi Tan, 1998 เป็นปลากัดที่มีขนาดใหญ่สุด ตัวมีสีน้ำตาลคล้ำ ใต้คางมีลายดำคล้ายเครื่องหมาย pi เป็นที่มาของชื่อ พบในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และอาจมี ในพรุอื่นของภาคใต้สุดถึงมาเลเซียตอนเหนือ ขนาดประมาณ 9 เซนติเมตร

5. ปลากัดภูเขานราธิวาส

ปลากัดภูเขานราธิวาส ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta apollon Schindler & Schmidt, 2006 หัวโต ขอบเหงือก มีเยื่อบางเป็นแผ่น ลำตัวค่อนข้างเรียว แก้มมีสีฟ้าเหลือบในตัวผู้ ครีบหางมีปลายเรียวเป็นเส้นยาว พบในลำธารบนภูเขาของจังหวัดนราธิวาส ขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร

6. ปลากัดหัวโม่งคอเขียว

ปลากัดหัวโม่งคอเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta pugnax Cantor, 1850 หัวโต ปากกว้าง ลำตัวค่อนข้างเรียว มีเส้นสีเทาอมเขียวพาดจากปากมาถึงแก้ม พบในลำธารบนภูเขาของจังหวัดนราธิวาส ขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร

7. ปลากัดอมไข่บาลา

ปลากัดอมไข่บาลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta kuehnei Schindler & Schmidt, 2008 ลำตัวป้อมสั้นกว่าชนิดก่อน แก้มมีสีเหลือบฟ้าและลายดำในตัวผู้ ปลายครีบหางมน มีเส้นสั้น ๆ หรือไม่มี พบในลำธารบนภูเขา ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส และในมาเลเซีย ขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร

8. ปลากัดอมไข่สงขลา

ปลากัดอมไข่สงขลา ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta ferox Schindler & Schmidt, 2006 ลักษณะคล้ายปลากัดภูเขา นราธิวาส แต่ขอบเหงือกไม่มีเยื่อบางเป็นแผ่น แก้มมีสีเหลือบฟ้า ใต้คางมีแถบสีดำคาด พบในลำธาร บนภูเขาของต้นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร (ข้อมูลปลากัดป่ากลุ่มอมไข่ โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์)

บทสรุปส่งท้าย

ในปัจจุบัน ปลากัดป่าได้รับความสนใจจาก ผู้เพาะเลี้ยงทั้งในและต่างประเทศ เพราะด้วยความมีเสน่ห์จากความเป็นยอดนักสู้ ความสวยงามของรูปร่าง และสีสันที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่ละสายพันธุ์ โดยในปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการจัดประกวดปลากัดป่าแต่ละสายพันธุ์ ทำให้ปลากัดป่าได้รับความสนใจเป็นที่รู้จักและมีผู้เพาะเลี้ยงมากขึ้น ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ดำรงรักษาสายพันธุ์ไว้

จากการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบพร้อมประกาศให้ปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิม (Betta splendens หรือ Siamese Fighting Fish) ให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติไทย นับเป็นมรดกที่มีคุณค่าและควรอนุรักษ์ให้มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างยั่งยืน ปลากัดเป็นปลาสวยงามที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านสีสัน การเคลื่อนไหวของครีบและลำตัวที่ดูพลิ้วไหวสง่างาม เป็นสัตว์เลี้ยงคู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน และยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งออกไปขายยังต่างประเทศ นำเงินเข้าสู่ประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท

อ้างอิง:
อรุณี รอดลอย. (2566). ปลากัดไทย นักสู้ที่สง่างามแห่งแผ่นดินสยาม. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
ชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร. (2557). มาตราฐานปลากัดป่าไทยสายพันธุ์ดั้งเดิมในกลุ่มก่อหวอด. ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดป่าพื้นบ้าน.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

คลิกดิ้! อัปเดตเทรนด์ทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเสิร์ฟสาระดีๆ ที่ให้คุณเพลิดเพลินกับไอเดียใหม่ๆ ได้ทุกวัน แนะนำสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้ามาใหม่ล่าสุด มาแรง ข้อมูลสินค้ายอดนิยม ราคาและโปรโมชั่นล่าสุด ช้อปปิ้งออนไลน์ ได้ของดี ราคาถูก จัดส่งเร็ว เก็บโค้ดส่วนลด โค้ดส่งฟรี คูปองเงินคืน ส่วนลด โปรโมชันพิเศษล่าสุด เปรียบเทียบข้อมูลและราคาสินค้า อัปเดตล่าสุด

Popular Posts

วิธีเลี้ยงปลาหางนกยูง'ให้อาหารวันละกี่ครั้ง กินอะไรได้บ้าง? สูตรอาหารปลาหางนกยูง.

วิธีเลี้ยงปลาออสก้า รวมกับปลาอะไรได้บ้าง อาหารปลาออสก้าชอบกินอะไร ยี่ห้อไหนดี.

ชุดออเจ้า แม่พุดตาน "พรหมลิขิต" ชุดไทย บุพเพสันนิวาส, ชุดแม่การะเกด ชุดพุดตาล.

ชุดคิท วงจรปรีโทนคอนโทรล ยี่ห้อไหนดี? วงจรปรีแอมป์ วงจรปรีโทนเสียงดี ราคาถูก.

เสื้อชั้นใน ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก รุ่นใหม่ล่าสุด Sabina Braless เสื้อใน ชุดชั้นใน ราคาถูก.

ปีบ (กาสะลอง) ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ออกดอกเดือนไหน? ประโยชน์ สรรพคุณ.

สาวสนม 'ดงนาทาม' ดอกสีชมพูอมม่วง วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี

นกเอี้ยงหงอน ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ? (นกเอี้ยงเลี้ยงควาย, นกเอี้ยงดำ) กินอะไร.

สิงโตนิพนธ์ กล้วยไม้ป่า'ออกดอกเดือนไหน ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะ ถิ่นอาศัย หายาก?