กล้วยไม้ป่า เข็มหนู,เอื้องเข็มหนู,กุหลาบดง ชื่อวิทยาศาสตร์ ออกดอกเดือนไหน หายาก
เนื้อหาข้อมูล "เอื้องเข็มหนู"
เอื้องเข็มหนู คืออะไร
เอื้องเข็มหนู คือพืชชนิดหนึ่งในพรรณกล้วยไม้ป่าไทย ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย เอื้องเข็มหนูเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms คือกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ชื่อวิทยาศาสตร์
เอื้องเข็มหนู ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Smitinandia micrantha (Lindl.) Holttum เป็นพันธุ์พืชในสกุล Smitinandia ซึ่งอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) โดยพืชวงศ์นี้อยู่ในอันดับ Asparagales.
ชื่อสกุล Smitinandia ได้รับการตั้งชื่อขึ้นเป็นกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลกใน พ.ศ. 2512 โดยนาย Richard Eric Holttum นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร. เต็ม สมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์ผู้เป็นปูชนียบุคคลในงานสำรวจพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Gardens Bulletin Singapore เล่มที่ 25 หน้า 105 ค.ศ. 1969
เอื้องเข็มหนู เดิมเคยถูกจัดอยู่ในสกุล Saccolabium และมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Saccolabium micranthum Lindl. ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นชื่อพ้อง
ชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อไทยเป็นชื่อทางการว่า เข็มหนู (khem nu) ซึ่งอ้างอิงตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557) นอกจากชื่อนี้แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น เอื้องเข็มหนู, กุหลาบหนู, กุหลาบดง, เอื้องกุหลาบดง เป็นต้น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า The Small Flowered Smitinandia.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เอื้องเข็มหนู มีลักษณะเป็น กล้วยไม้อิงอาศัย ลำต้นเป็นแท่งกลมและแบนเล็กน้อย ใบรูปขอบขนานแคบ ใบกว้างได้ถึง 1.5 ซม. ยาวถึง 7-12 ซม. เรียงสลับซ้ายขวา ปลายใบเว้าเป็น 2 พู ขนาดไม่เท่ากัน ปลายพูมน แผ่นใบหนาและอวบน้ำ
ดอกกล้วยไม้ เอื้องเข็มหนู
ออกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะยาวได้ถึง 8 ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกในช่อจำนวนมาก ดอกสีขาวมีแต้มสีม่วง สีชมพูอ่อน แดงบนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก กลีบปากสีชมพู แยกเป็น 3 พู ตรงกลางแผ่เป็นรูปไข่ขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่น
ดอกมีขนาดเล็กจิ๋วมาก ดอกบานเต็มที่ กว้าง 4-6 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกยาวเท่า ๆ กัน ประมาณ 3 มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง กลีบดอกรูปขอบขนาน แคบกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากรูปขอบขนาน อวบน้ำ หูกลีบขนาดเล็ก เส้าเกสรสั้น เดือยขนานกับรังไข่
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
เอื้องเข็มหนู ออกดอกช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของเอื้องเข็มหนู พบตามป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ พบในประเทศไทยทั่วทุกภาค ต่างประเทศพบตั้งแต่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัยจนถึงมาเลเซีย
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2550). พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.