ปลาสอด สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่พันธุ์' อะไรบ้าง ปลาแพลทตี้ วิธีเลี้ยงยังไง? ออกลูกเป็นตัว.
เนื้อหาข้อมูล"ปลาสอด"
ปลาสอด คืออะไร
ปลาสอด คือปลาสวยงามน้ำจืดในสกุล Xiphophorus อยู่ในวงศ์ปลาสอด (Poeciliidae) อันดับปลาออกลูกเป็นตัว (Cyprinodontiformes) จัดเป็นปลาที่มีความสำคัญมากอีกกลุ่มหนึ่งในกลุ่มปลาออกลูกเป็นตัว
ปลาสอดเป็นปลาที่รักสงบ สามารถอยู่รวมกับปลาชนิดอื่นได้ และเนื่องจากในแหล่งน้ำธรรมชาติพบปลาในสกุลนี้มีความหลากหลายรูปแบบ ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ถูกนำมาเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์มากเช่นปลาหางนกยูง ปลาสอดในสกุลนี้ที่นำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กัน จึงทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย
ปลาสอด มีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
Wild type male of Xiphophorus hellerii. Photo by André Giraldi.
ปลาสอดชนิดที่นิยมเลี้ยงและซื้อขายในประเทศและต่างประเทศมี 3 ชนิดด้วยกัน คือ
- ปลาสอดหางดาบ Xiphophorus helleri
- ปลาสอดแพลทตี้ Xiphophorus maculatus
- ปลาสอดวาเรียตัส Xiphophorus variatus
ปัจจุบันพบว่า ปลาสอดในสกุล Xiphophorus มีความหลากหลายของสายพันธุ์มากมาย ซึ่งเป็นผลมาจาก
- การคัดสายพันธุ์ (Selective breeding)
- การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาสอด 2ชนิด
- การผสมพันธุ์ของชนิดย่อยหรือต่างเผ่าพันธุ์
- การกลายพันธุ์ (Mutation) อันเนื่องมาจากสารเคมี ความร้อน และรังสี ทำให้เกิดการกลายพันธุ์
ในการเพาะพันธุ์ปลาสอด จึงควรคำนึงถึงการคัดสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ปลาสอด ที่เป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงาม
ปัจจัยที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการคัดเลือกสายพันธุ์ของปลาในสกุล Xiphophorus คือปลาเพศเมียสามารถเก็บน้ำเชื้อของปลาเพศผู้ ซึ่งเรียกว่า Superfetation ได้ยาวนาน ทำให้ปลาเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์ครั้งหนึ่งสามารถให้ลูกได้หลายครอก โดยน้ำเชื้อของเพศผู้จะถูกเก็บไว้ที่ท่อนำไข่ (Folds of the Oviducts) หลังจากที่ได้รับการผสมครั้งหนึ่ง สามารถให้ลูกได้ถึง 5-9 ครอก
ปลาสอด (ปลาสอดหางดาบ)
ปลาสอด (Swordtail) สายพันธุ์ต่างๆ
ปลาสอด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xiphophorus helleri Hecket, 1848 เป็นปลาสวยงามน้ำจืด ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ลักษณะครีบหางตอนล่างของปลาตัวผู้ ที่ยื่นยาวออกไปคล้ายดาบ (Sword) จึงกลายเป็นที่มาของชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Swordtail ดังนั้นที่มาของชื่อปลาสอด คำว่า "สอด" มาจากการออกเสียงว่า "สอดเทล" (Swordtail) หรือ ปลาสอดหางดาบ นั่นเอง
ถิ่นกำเนิด
ปลาสอดมีถิ่นกำเนิดในบริเวณริโอนอตลา (Rio Nautta) ในเม็กซิโก ถึงเบลิซ (Belize) และฮอนดูรัส (Hondurus) ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีพืช น้ำปกคลุม อุณหภูมิน้ำประมาณ 24-28 องศาเซลเซียส เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ในธรรมชาติ ปลาสอดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย
ลักษณะปลาสอด
ปลาสอดเพศผู้มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ช่วงหางดาบอาจมีความยาว 4-8 เซนติเมตร ปลาเพศเมียมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร ความยาวลำตัวมีความแปรปรวนมากในแต่ละตัว ปลาสอดบางตัวอาจมีความยาวแค่ 5-6 เซนติเมตร บวกความยาว ของดาบ 3 เซนติเมตร ในขณะที่ปลาสอดบางตัวอาจมีความยาวถึง 8-10 เซนติเมตร บวกหางดาบ 3 เซนติเมตร ปลาสอด มีลำตัวยาวเรียวและหัวแหลม
จากการที่ปลาสอด สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน ทำให้มีลวดลายและสีหลากหลายมากใน ธรรมชาติ โดยทั่วไปปลาสอดสีเขียวเป็นที่รู้จักกันมากในธรรมชาติ ปลาสอดมีแถบตรงกลาง สีแดงเข้มหรือสีน้ำตาลพาดตามลำตัวและบางทีอาจพบแถบสีเพิ่มอีก 4 แถบ อยู่ด้านบน 2 แถบและด้านล่างแถบกลางลำตัวอีก 2 แถบ ช่วงท้องมีสีขาวและที่ครีบหลังมีจุดแดง ในปลาสอดเพศผู้ขอบครีบหางตอนล่างที่มีลักษณะคล้ายดาบมีสีเหลืองและดำ ในบางครั้ง อาจพบจุดสีดำบนลำตัว
ชื่อสายพันธุ์ปลาสอด
การเรียกชื่อสายพันธุ์ของปลาสอด มาจากลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ตลอดจนสีและรูปแบบของครีบด้วย หลักการเรียกชื่อสายพันธุ์จะเรียกลักษณะสีพื้นลำตัวก่อนแล้ว ตามด้วยลวดลายบนลำตัวและลักษณะของครีบ เช่น
- Gold Tuxedo Swordtail สีของลำตัวปลาจะเป็นสีทองและครึ่งตัวด้านท้ายจะมีสีดำเหมือนกับเสื้อทักซิโด้
- Red Hi fin Swordtail สีพื้นลำตัวจะเป็นสีแดงและมีครีบกระโดงหลังสูง
- Brick Red Wagtail ปลาสอดชนิดนี้ลำตัวจะมีสีแดงอิฐและหางจะมีลักษณะเป็นหางไหม้ (Wagtail)
ปลาสอด สายพันธุ์ต่างๆ
ปลาสอด ที่นิยมเลี้ยงและซื้อขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย ปลาสอดสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ปลาสอดแดง (Red Swordtail) ปลาสอดหางไหม้ (Wagtail Swordtail) ปลาสอด ทักซิโด้ (Tuxedo Swordtail) ปลาสอดสีทอง (Gold Swordtail) เป็นต้น
ปัจจุบันมีการพัฒนาในรูปแบบปลาที่มีลำตัวสั้น เช่น Shortbody เพื่อให้มีความแปลกใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าปลาสวยงาม
ปลาแพลทตี้ (ปลาสอดแพลทตี้)
ปลาแพลทตี้ (Platy fish) สายพันธุ์ต่างๆ
ปลาแพลทตี้ มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Platy fish หรือ Moonfish มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Xiphophorus maculatus มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา และฮอนดูรัส ที่มาชื่อปลาแพลทตี้ (Platy) นั้นมาจากคำว่า Platypoecilus ซึ่งเป็นชื่อสกุลเดิมที่เคยอยู่ในสกุลนี้ แต่ปัจจุบันถูกย้ายมาอยู่ในสกุลเดียวกับปลาสอด (สกุล Xiphophorus) แล้ว
ปลาแพลทตี้ หรือ ปลาสอดแพลตที้ เป็นปลา ที่รักสงบ และมีลูกดก เหมาะที่จะเพาะเลี้ยงเป็นการค้า ปลาแพลทตี้ได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ ขึ้นมาหลากหลายสายพันธุ์ให้มีสีสันและครีบแตกต่างกันออกไป ส่วนหลังของปลาแพลทตี้ โค้งมนกว่า ลำตัวสั้นป้อมกว่าปลาสอดหางดาบ ครีบหลังมีลักษณะคล้ายกับ ปลาสอดวาเรียตัส แต่มีขนาดเล็กกว่า
ปลาสอดแพลทตี้ สายพันธุ์ต่างๆ
ปลาสอดแพลทตี้ ที่มีการเพาะเลี้ยงกันในประเทศไทย เช่น ปลาสอดแพลทตี้สีแดง หรือ ปลาสอดกุหลาบ (Red Platy หรือ Coral Platy) ปลาสอดแพลทตี้ มิกกี้เม้าส์ (Mickey Mouse Platy) ปลาสอดแพลทตี้กระ (Salt and Pepper Platy) ปลาสอดแพลทตี้สีทอง (Gold Platy) เป็นต้น
ที่มา : อรุณี รอดลอย. (2565). คู่มือการเพาะเลี้ยงปลาสอดในประเทศไทย. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ.