นกกระทาดงอกสีน้ำตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะนิสัย กินอะไรเป็นอาหาร.

เนื้อหาข้อมูล"นกกระทาดงอกสีน้ำตาล"

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล คือสัตว์ป่าชนิดหนึ่งในกลุ่มนกประจำถิ่น ซึ่งดำรงชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่าของประเทศไทย มีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย

นกกระทาดงอกสีน้ำตาลเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์จำพวกนก ซึ่งสัตว์จำพวกนี้เป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรง ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม

กินอะไรเป็นอาหาร

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ Arborophila brunneopectus ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ Bar-backed Partridge

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล; ภาพโดย Leonid F.

อาหารนกกระทาดงอกสีน้ำตาล กินเมล็ดหญ้า เมล็ดไม้ ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลงและสัตว์ขนาดเล็กที่อยู่ตามพื้นดิน หาอาหารด้วยการเดินจิกตามพื้นดินไปเรื่อยๆ อาจจะมีการคุ้ยเขี่ยเช่นเดียวกับไก่

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

ชื่อวิทยาศาสตร์

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Arborophila brunneopectus (Blyth, 1855) เป็นพันธุ์สัตว์ในสกุล Arborophila ซึ่งอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae) โดยสัตว์ในวงศ์นี้อยู่ในอันดับไก่ (Galliformes)

นอกจากชื่อ นกกระทาดงอกสีน้ำตาล นี้แล้ว ยังมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Bar-backed Partridge, Bare-throated Partridge, Bare-throated Tree Partridge, Brown-breasted Hill Partridge, Brown-breasted Partridge, Brown-breasted Tree Partridge.

ความหมายของชื่อและการค้นพบ

ชื่อชนิด "brunneopectus" เป็นคำที่มาจากรากศัพท์ดังนี้ brunne,-i หรือ brunneus เป็นรากศัพท์ ภาษาลาตินสมัยเก่า แปลว่าสีน้ำตาล และ pect,-or,=us เป็นรากศัพท์ภาษาลาติน แปลว่า อก ความหมายของชื่อชนิดจึงหมายถึง "นกที่มีอกเป็นสีน้ำตาล” เป็นชนิดที่พบครั้งแรกบริเวณ เทือกเขาตะนาวศรี ในประเทศพม่า

นกกระทาดงอกสีน้ำตาลมีชื่อวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นชื่อพ้อง ว่า Arborophila javanicus และ Arborophila campbelli ชื่อชนิดที่เป็นชื่อพ้องดัดแปลงมาจาก ชื่อสถานที่คือเกาะชวา และชื่อบุคคลคือ Robert Watt Campbell นักปักษีวิทยาชาว ออสเตรเลียตามลำดับ

ทั่วโลกมีนกกระทาดงอกสีน้ำตาล 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบชนิดย่อยเดียว คือ Arborophila brunneopectus brunneopectus (Blyth) ที่มาและความหมายของชื่อ ชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด

อนุกรมวิธาน (Taxonomy)

  • อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
  • ไฟลัม (Phylum) : Chordata
  • ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
  • ชั้น (Class) : Aves
  • อันดับ (Order) : Galliformes
  • วงศ์ (Family) : Phasianidae
  • สกุล (Genus) : Arborophila

ลักษณะทั่วไป

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นนกที่มีขนาดเล็ก (27-28 ซม.) ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน แต่ละตัวแต่ละท้องที่สีสันอาจจะต่างกันเล็กน้อย

ลำตัวด้านบน โดยทั่วไป คล้ายคลึงกับนกกระทาดงคอสีแสด แต่มีลายขวางสีดำกระจายอยู่ทั่วไป คอหอยและคอตอนหน้าสีขาวหรือสีขาวแกมสีเนื้อ โดยปลายก้านขนแต่ละก้านมักจะเป็นสีดำ ลำตัวด้านล่างที่เหลือสีเนื้อค่อนข้างสด ท้องออกสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายขวางสีขาวสลับสีดำ

การสืบพันธุ์

การสืบพันธุ์ของนกกระทาดงอกสีน้ำตาล เริ่มผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือระหว่าง เดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม ทำรังตามพื้นดิน โดยการขุดดินให้เป็นแอ่งเล็กน้อย นำใบหญ้าหรือ ใบไม้มาวางตรงกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่

รังมักจะอยู่ตามซุ้มกอหญ้า หรือกอไผ่ ซึ่งมองเห็นได้ค่อนข้างยาก ไข่มีลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดโตเฉลี่ย 30.3 x 39.9 มม. ไข่สีขาว ตัวเมียตัวเดียวที่ฟักไข่ โดยเริ่มฟักเมื่อออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 20-21 วัน

ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ลืมตา มีขนอุยปกคลุมตลอดลำตัว ออกมาได้สักระยะหนึ่ง หรือประมาณ 3- 4 ชั่วโมง ขนปกคลุมลำตัวจะแห้ง สามารถที่จะยืนได้ และไม่ช้าก็จะเดินตามแม่ไปหาอาหาร ลูกนกจะเดินตามแม่ไปหาอาหารเป็นเวลา 7-8 สัปดาห์ จากนั้นก็จะแยกไปหากินตามลำพังต่อไป

อุปนิสัย

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล มีอุปนิสัยเป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆ และหากินในตอนกลางวัน พบโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ พบในป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ในระดับความสูง 500-1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล จะออกหากินตามพื้นดิน แต่จะจับคอนนอนตามกิ่งไม้ในเวลากลางคืน มีอุปนิสัยในการป้องกันอาณาเขตด้วยการร้องหรือขันและจะโจมตีลักษณะคล้ายไก่เมื่อตัวอื่นๆ โดยเฉพาะเพศเดียวกันเข้ามารุกล้ำอาณาเขตที่ครอบครอง

เมื่อตกใจหรือมีภัยจะบินขึ้นในระดับที่ไม่สูงเกินยอดไม้ แต่ก็บินได้ในระยะทางที่ไกลพอสมควร จากนั้นก็ลงดินต่อไปอีก หรืออาจจะหลบซ่อนตามทุ่มหญ้าที่รกทึบหากจวนตัว และออกจากที่ซ่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้ว

การแพร่กระจาย

เขตแพร่กระจายของนกกระทาดงอกสีน้ำตาล มีถิ่นกำเนิดในจีนด้านตะวันตกเฉียงใต้ และหมู่เกาะชุนตาใหญ่ ในเอเชียตะวันออกเถียงได้พบในพม่า ไทย เวียดนาม ลาว และ มาเลเซีย

สถานภาพ

นกกระทาดงอกสีน้ำตาล เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่ง โดยพบไม่บ่อยและปริมาณไม่มากนัก แต่บางท้องที่ก็พบได้บ่อยและปริมาณปานกลาง สถานภาพตามกฎหมาย กฎหมายจัดนกกระทาดงอกสีน้ำตาลเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

คลิกดิ้! อัปเดตเทรนด์ทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเสิร์ฟสาระดีๆ ที่ให้คุณเพลิดเพลินกับไอเดียใหม่ๆ ได้ทุกวัน แนะนำสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้ามาใหม่ล่าสุด มาแรง ข้อมูลสินค้ายอดนิยม ราคาและโปรโมชั่นล่าสุด ช้อปปิ้งออนไลน์ ได้ของดี ราคาถูก จัดส่งเร็ว เก็บโค้ดส่วนลด โค้ดส่งฟรี คูปองเงินคืน ส่วนลด โปรโมชันพิเศษล่าสุด เปรียบเทียบข้อมูลและราคาสินค้า อัปเดตล่าสุด

Popular Posts

วิธีเลี้ยงปลาออสก้า รวมกับปลาอะไรได้บ้าง อาหารปลาออสก้าชอบกินอะไร ยี่ห้อไหนดี.

ปลาสอด สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่พันธุ์' อะไรบ้าง ปลาแพลทตี้ วิธีเลี้ยงยังไง? ออกลูกเป็นตัว.

ชุดคิท วงจรปรีโทนคอนโทรล ยี่ห้อไหนดี? วงจรปรีแอมป์ วงจรปรีโทนเสียงดี ราคาถูก.

ชุดออเจ้า แม่พุดตาน "พรหมลิขิต" ชุดไทย บุพเพสันนิวาส, ชุดแม่การะเกด ชุดพุดตาล.

เสื้อชั้นใน ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก รุ่นใหม่ล่าสุด Sabina Braless เสื้อใน ชุดชั้นใน ราคาถูก.

สาวสนม 'ดงนาทาม' ดอกสีชมพูอมม่วง วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี

วิธีเลี้ยงเต่าซูคาต้า กินอะไร? อาหารเต่าบก อาหารเต่าซูคาต้า ยี่ห้อไหนดีมีกี่สูตร ราคา.

ปลาดินสอแดง ชนิดใหม่? Nannostomus Cenepa' และปลา 'Super Red Cenepa'.

วิธีเลี้ยงปลาหางนกยูง'ให้อาหารวันละกี่ครั้ง กินอะไรได้บ้าง? สูตรอาหารปลาหางนกยูง.

กลอนประตูดิจิตอล SECUON รุ่น SEC-394T Digital MORTISE LOCK ราคา