ปลาเข็ม มีกี่ชนิด อะไรบ้าง? ปลาน้ำจืดไทย ปลาออกลูกเป็นตัว ลักษณะความแตกต่าง.
ปลาออกลูกเป็นตัว (Livebearers) ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกา
แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปลาที่เราเห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันอย่างปลาเข็มก็ถือเป็นปลากลุ่มนี้เช่นกัน
ปลาเข็มส่วนใหญ่ที่พบกันทั่วไปในเมืองไทย คือปลาเข็มสกุล Dermogenys อย่างเช่น
- ปลาเข็มหม้อ (Dermogenys siamensis)
- ปลาเข็มภาคใต้ (Dermogenys collettei) จากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
- เข็มพม่า (Dermogenys burmanicus) นั้นพบเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายขอบในลุ่มน้ำสาละวิน
ปลาเข็มสามจุด
ปลาเข็มสามจุด Hemirhamphodon kuekenthali
มีปลาเข็มอีกสกุลนึงที่เมืองไทยพบชนิดเดียว นั่นคือ ปลาเข็มงวง (Hemirhamphodon pogonognathus) เจอแถวๆป่าพรุทางใต้ ไล่ไปจนถึงอินโดนิเซีย อธิบายแบบง่ายๆ ให้คนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญฟัง ต้องบอกว่าปลาเข็มกลุ่มนี้เป็นปลาเข็มที่ตัวเพรียวยาวกว่ากลุ่มแรก แล้วก็มีความน่าสนใจมากกว่า ทั้งสีสันและรูปลักษณ์
ปลาเข็มสกุล Hemirhamphodon พวกนี้เป็นปลาเข็มที่อาศัยอยู่ตามป่าพรุและแม่น้ำตามที่ราบต่ำแถบคาบสมุทรมลายู เริ่มมีการศึกษาและจัดทำเอกสารระบุชนิดมาตั้งแต่เกือบสองร้อยปีก่อน แล้วทุกๆ 50-60 ปีก็มีคนเจอชนิดใหม่ทีนึง ก่อนจะถี่ขึ้นเรื่อยๆในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา
หากมองแบบไม่คิดอะไรมันก็คงไม่มีอะไร แต่ถ้ามองแบบพินิจพิเคราะห์ก็อดคิดไม่ได้ว่าการค้นพบปลากลุ่มนี้ซึ่งมีบ้านเป็นป่าที่ราบต่ำนั้นสัมพันธ์กับการบุกเบิกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อการค้าซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลก และกลายมาเป็นอุตสาหกรรมหลักในช่วงเดียวกัน นั่นหมายความว่าการที่จะพบปลาชนิดใหม่ๆนั้นก็น่าจะเป็นผลพวงจากการบุกรุกพื้นที่ป่าพรุราบต่ำ เพราะทำให้เข้าถึงแหล่งอาศัยซึ่งเดิมเป็นป่าลึกได้ง่ายไปด้วย
ปลาเข็มตัวในภาพ คือ ปลาเข็มสามจุด (Hemirhamphodon kuekenthali) วัยอ่อนจากป่าพรุแถบซาราวัคบนเกาะบอร์เนียว เมื่อโตเต็มวัย บริเวณท้องจะมีแต้มจางๆจำนวนสามแถบใหญ่ แม้ว่าจะมีการค้นพบมาเป็นร้อยปี (ตั้งแต่ ค.ศ. 1901) แต่ก็เป็นชนิดที่มีตัวอย่างอยู่น้อย และไม่เป็นที่แพร่หลายแม้กระทั่งในวงการปลาสวยงาม
นอกจากปลาเข็มชนิดนี้ยังมีปลาเข็มอีกสามชนิด ได้แก่ Hemirhamphodon byssus, Hemirhamphodon kecil, Hemirhamphodon sesamum ที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา น่าเศร้าที่จะบอกว่านี่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปนานนับร้อยปี มนุษย์ก็ยังคงบุกรุกแผ้วถางป่าพรุที่ราบต่ำเพื่อเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวอย่างไม่หยุดยั้ง หรือแม้กระทั่งหยุดคิดซักวินาทีเดียวก็ตาม
ที่มา : By แอด อ. จากเพจ หนังสือธรรมชาติวิทยา by Siamensis Co.,Ltd.