กระเบาใหญ่ (กระเบาน้ำ). ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะ, ออกดอกผลเดือนไหน.
เนื้อหาข้อมูล"กระเบาใหญ่"
- กระเบาใหญ่ คืออะไร?
- ออกดอก/ผล ช่วงเดือนไหน?
- ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออะไร?
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
- การใช้ประโยชน์ สรรพคุณ?
กระเบาใหญ่ คืออะไร?
กระเบาใหญ่ คือพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มพรรณไม้ป่ายืนต้นของไทย ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ (Eudicots) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีถิ่นอาศัยในประเทศไทย
กระเบาใหญ่เป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ออกดอก/ผล ช่วงเดือนไหน?
กระเบาใหญ่ ออกดอกเดือนธันวาคม-เมษายน ผลแก่เดือนเมษายน-สิงหาคม
ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่ออะไร?
กระเบาใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์) ว่า Hydnocarpus castaneus Hook.f. & Thomson เป็นพันธุ์พืชในสกุล Hydnocarpus ซึ่งอยู่ในวงศ์กระเบา (Achariaceae) โดยพืชวงศ์นี้จะอยู่ในอันดับ Malpighiales.
กระเบาใหญ่ มีชื่อพ้อง (synonym) คือ Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness. และ Hydnocarpus castaneus var. pseudoverrucosus Sleumer
ชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อไทยที่เป็นชื่อทางการ ว่า กระเบาน้ำ ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ พ.ศ.2557 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและภาพประกอบ)
นอกจากชื่อ'กระเบาน้ำ'นี้แล้ว ยังมีชื่ออื่น ที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น กระเบา กระเบาใหญ่ กระเบาน้ำ กาหลง (ภาคกลาง), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), กระเบาค่าง (ยะลา), กระเบาแดง (ตรัง), กระเบา กระเบาน้ำ เบา (อีสาน), กระเบาขาว กระเบาลิง บักขี้แข้ว (อ.เมือง มหาสารคาม), กระเบา กระเบาตึก (เขมร-อีสานและตะวันออก), ກະເບົາ (ຊື່ລາວ) เป็นต้น และมีชื่อสามัญ (Common name) ภาษาอังกฤษ ว่า Chaulmoogra.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระเบาใหญ่ มีลักษณะเป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงถึง 30 ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล แดง กิ่งแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 4-8 ซม. ยาว 10-30 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบ มนและเบี้ยว แผ่นใบหนาและเรียบแบน ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 5-10 เส้น ก้านใบยาว 1-2 ซม. ใบอ่อนสีแดงหรืออมชมพู
ดอกกระเบาใหญ่
ดอกกระเบาใหญ่ ออกเป็นกระจุก มี 1-2 ดอก ตามซอกใบหรือกิ่งเก่า กลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองครีม มีอย่างละ 5 กลีบ มีกลิ่นหอม กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรี ยาว 1.2 ซม. ขอบกลีบม้วนเข้าด้านในตามแนวยาว และ กลีบมักจะบานพับกลับ เกสรเพศผู้ 4 เกสร รังไข่รูปไข่ มีขนละเอียดหนาแน่น
ผลกระเบาใหญ่
ผลรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-12 ซม. ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เมล็ดรูปทรงหลายเหลี่ยม มีจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ด สีขาว-เหลืองอ่อน ก้านผลยาว 2-3 ซม.
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
กระเบาใหญ่ เป็นไม้ป่ายืนต้นที่มีการกระจายพันธุ์ พบในประเทศไทย ลาว(พบ ตอนกลางและตอนใต้) เมียนมาร์ตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว มีถิ่นอาศัยขึ้นในที่ราบน้ำท่วมถึง หรือป่าบุ่งป่าทาม โดยเฉพาะตามริมแม่น้ำลำคลอง ที่ความสูงจากระดับน้ำ ทะเลไม่เกิน 500 ม.
การใช้ประโยชน์ สรรพคุณ?
ไม้ป่ากินได้ ใช้เป็นอาหาร
- เนื้อรอบเมล็ดของผลสุกที่ร่วงแล้วกินได้รสมัน คล้ายเผือกต้ม (ผลดิบทำให้เมา)
- ยอดอ่อนรสเปรี้ยว เป็นผักสดกินแกล้มลาบ ก้อย ปิ้งปลา หรือน้ำพริก
พืชสมุนไพร สรรพคุณ
- แก่นกระเบา ใหญ่+กระพี้+กรวยป่า+ทันน้ำ/ช้องแมว+สะมัง/เฉียงพร้า นางแอ เข้ายาร่วมกันต้มน้ำดื่มบำรุงแม่ลูกอ่อนหรืออยู่ไฟ
- เมล็ด กระเบาใหญ่ตำกับขี้ซี (ชันของต้นเต็ง Shorea obtusa) ผสม กระเทียม ใช้ทารักษาโรคกลาก-เกลื้อน
- เมล็ดบดเข้ายาอื่นๆ รักษาโรคเรื้อน หรือ ทำยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด
- เนื้อในผลดิบและเมล็ด ใช้เบื่อปลา หรือ ทำยากำจัดแมลง