ผักฮิ้น, ขาเขียด, ผักเขียด* ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะ ใช้ประโยชน์? ผักกินได้
ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ"ผักฮิ้น"
- ผักฮิ้น คืออะไร?
- ชื่อวิทยาศาสตร์?
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์?
- ออกดอกช่วงเดือนไหน?
- การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย?
- การใช้ประโยชน์และสรรพคุณ?
ผักฮิ้น คืออะไร?
ผักฮิ้น คือพืชชนิดหนึ่งในกลุ่มพรรณไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำของไทย ซึ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocots) ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย
ผักฮิ้นเป็นพืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular plants) ซึ่งอยู่ในหมวดพืชมีเมล็ด (Spermatophytes) โดยอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Flowering plants) หรือ Angiosperms ซึ่งเป็นกลุ่มของพืชที่มีดอก มีรังไข่ และมีส่วนที่เรียกว่าออวุล (Ovule) เมื่อเกิดการปฏิสนธิ ออวุลจะเจริญไปเป็นเมล็ด และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดนั้นไว้สำหรับการขยายพันธุ์พืชด้วยเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ดอกผักฮิ้น; ภาพโดย Rachun Pooma.
ชื่อวิทยาศาสตร์?
ผักฮิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Monochoria vaginalis (Burm.f.) C.Presl ex Kunth เป็นพันธุ์พืชในสกุล Monochoria ซึ่งอยู่ในวงศ์ผักตบ (Pontederiaceae) โดยพืชวงศ์นี้อยู่ในอันดับ Commelinales มีชื่อพ้อง คือ Monochoria vaginalis var. plantaginea (Roxb.) Solms.
ชื่อพรรณไม้ของไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำชนิดนี้ มีชื่อไทยเป็นชื่อทางการว่า ผักเขียด (phak khiat) ซึ่งอ้างอิงตามหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557)
นอกจากชื่อนี้แล้ว ยังมีชื่ออื่นที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น ขาเขียด, นิลบล (ภาคกลาง); ผักเป็ด (ชลบุรี); ผักริ้น (ภาคใต้); ผักเผ็ด (นครราชสีมา); ผักฮิน, ผักชิ้น, ผักชิ้นน้ำ (ภาคเหนือ); ผักชิ้น (อุบลราชธานี); ผักอีฮิน, ผักอีฮีน (อ.โพธิ์ตาก, อ.ศรีเชียงใหม่ หนองคาย, อ.ธาตุพนม นครพนม) เป็นต้น และมีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Oval-leaf Monochoria, Pickerel weed.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์?
ผักฮิ้น มีลักษณะเป็น ไม้นํ้าล้มลุก ทั้งต้นลอยที่ผิวน้ำหรือมีรากหยั่งยึดดินท้องน้ำ สูง 10-50 ซม. มีลักษณะทั่วไปคล้าย ผักตบชวา (Eichhornia crassipes) แตกต่างกันที่ ผักฮิ้น จะมีลำต้นที่ยืดยาว 5-30 ซม. (ลำต้นของผักตบชวาสั้นมากและ ซ่อนอยู่ในกาบใบ) และผอมเพียว ใบผักฮิ้น รูปไข่หรือรูปใบหอกแคบ กว้าง 2-4.5 ซม. ยาว 3-12 ซม. (มีขนาดเล็กและเรียวยาวกว่าผักตบชวา)
ดอกผักฮิ้น
ผักฮิ้นมีช่อดอกออกที่ปลายลำต้น ช่อดอกยาว 3-6 ซม. (สั้นและเล็กกว่าผักตบชวา) มีก้านดอกย่อยยาว 2-10 มม. ส่วนใหญ่ดอกมีสีม่วงเข้ม หายากที่มีสีม่วงอ่อน-สีขาว (แฉกกลีบรวมด้านบน ไม่มีแววมยุราเหมือนดอกผักตบชวา) แฉกของกลีบรวมยาว 0.5-1.5 ซม. (สั้นกว่าหรือมีขนาดของดอกที่เล็กกว่า ผักตบชวา)
ออกดอกช่วงเดือนไหน?
ผักฮิ้น ออกดอกช่วงเดือนสิงหาคม- ตุลาคม ติดผลเดือนกันยายน-พฤศจิกายน
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย?
ผักฮิ้น เป็นไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำที่พบได้ง่าย กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย มักพบเป็นวัชพืชตามนาข้าว เมล็ดมีขนาดเล็กมาก (ยาว 1 มม.) ติดไปกับดิน น้ำพัดพา หรือถูกวัว-ควายกินแล้วถ่ายออกมา ช่วยแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ได้ดี ต่างประเทศพบในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและออสเตรเลีย และพบทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในทวีปเอเชีย
ถิ่นอาศัย ขึ้นตามที่โล่งแจ้งในแหล่งน้ำนิ่ง นาข้าว หรือตามแอ่งน้ำขังขนาดเล็กที่มีระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 ซม. หายากตามแหล่งน้ำลึกหรือน้ำไหล ขึ้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 ม. ช่วงฤดูแล้งในพื้นที่น้ำแห้งส่วนใหญ่จะแห้งตายไป มีเพียงบางส่วนที่ยัง สามารถอยู่รอดได้ตามร่องดิน/ก้นแอ่งน้ำที่ยังคงมีความชื้นเหลืออยู่
การใช้ประโยชน์และสรรพคุณ?
การใช้ประโยชน์จากผักฮิ้น เป็นผักกินได้ สามารถนำมาใช้เป็นอาหาร โดยนำยอดอ่อน เป็นผักสด จิ้มน้ำพริก ป่น หรือซุบ, แกงกับหน่อไม้ดอง
ที่มา : มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. (2561). ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.