คอกม้าแตก ชื่อวิทยาศาสตร์ Asystasia salicifolia ออกดอกเดือนไหน ลักษณะ.
ชื่อวิทยาศาสตร์
คอกม้าแตก ชื่อวิทยาศาสตร์ Asystasia salicifolia Craib
วงศ์ Acanthaceae
นิเวศวิทยา คอกม้าแตก
ถิ่นอาศัยของต้นคอกม้าแตก พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ตาม ที่รกร้างหรือตามชายป่า ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 200-1,700 ม.
ออกดอกเดือนไหน
ดอกคอกม้าแตก ออกดอกเดือนสิงหาคม-มกราคม เป็นผลเดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นคอกม้าแตก มีลักษณะวิสัยเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูป ขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง 1-3.8 ซม. ยาว 7-24 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน รูปลิ่ม หรือ สอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงถึงมีขนสากประปรายทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 7-11 เส้น ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจะ คล้ายช่อเชิงลด ออกด้านเดียวที่ปลายยอด หรือซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว 8-16 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5-12 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ออกเป็น คู่ตรงข้ามกัน มีดอกเพียงข้างเดียว ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ขนาดเล็ก ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก เล็ก ๆ กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแตร ด้านนอกสีม่วง ปลายแยกเป็น 5 แฉก แยกเป็น 2 ซีก ซีกบน 2 แฉก ซีกล่าง 3 แฉก สีขาวหรือสีชมพู มีจุดสีม่วงที่กลีบล่าง มีขนประปราย แฉกกลีบดอกเรียงแบบซ้อนเหลื่อมในตอกตูม
เกสรเพศผู้ 4 เกสร มี 2 คู่ ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูค่อนข้างหนา มีขนต่อมประปราย อับเรณูรูปขอบขนาน แตกตามช่อง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายทรงกระบอก มีขนต่อมประปราย ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ 2.5 ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง ปลายป่อง กว้าง 4-5 มม. ยาว 1-3.5 ซม. ปลายสุดเป็นติ่งแหลม มีขนต่อมประปราย เมล็ด 4 เมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงไข่กลับ ค่อนข้างแบน เกลี้ยง ผิวเป็นปุ่มปม
การกระจายพันธุ์
การแพร่กระจายของคอกม้าแตก ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน และลาว
ที่มาข้อมูลและภาพ : หนังสือพรรณไม้ในพื้นที่โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี