โรคปลาสวยงาม วัณโรคปลา ท้องบวม ครีบกร่อน โรคปลาที่เกิดจาก ติดเชื้อแบคทีเรีย.
โรคของปลาสวยงามที่เกิดจากแบคทีเรียมีหลายโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ เลี้ยงปลาสวยงาม เช่น วัณโรคปลา โรคท้องบวม โรคครีบกร่อน โรคตัวด่าง และโรคแผลตามลำตัว เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียดของแต่ละโรคดังนี้ (กมลพร ทองอุไร และ สุปราณี ชินบุตร, 2544)
1. วัณโรคปลา (Mycobacteriosis)
วัณโรคปลา หรือโรคติดเชื้อมัยโคแบคทีเรีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium sp. พบในปลาสวยงามทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล สาเหตุของโรค สันนิษฐานว่าปลาอาจได้รับเชื้อจากอาหารมีชีวิต เช่น ไรแดง หนอนแดง หนอนแก้ว และลูกน้ำ หรือ อาจได้รับเชื้อจากทางน้ำ ผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหารโดยตรง หรือติดเชื้อทางบาดแผล นอกนี้ยัง สันนิษฐานว่า ปลาอาจจะได้รับเชื้อติดต่อผ่านทางพ่อแม่ได้ด้วย
อาการ ปลาที่เป็นโรคจะผอมลง สีลำตัวจางลงหรือคล้ำดำ เกล็ดตั้ง ไม่กิน อาหาร ตาโปน ว่ายน้ำ ไม่มีทิศทาง หงายท้อง ลอยตัวบริเวณผิวน้ำ บางครั้งจมตัวอยู่บนพื้นตู้ การรักษา การใช้ยาต้านจุลชีพไม่ได้ผลในการรักษา
2. โรคครีบกร่อน (Fin Rot Disease)
โรคครีบกร่อนเป็นโรคที่พบบ่อยในปลาสวยงามหลายชนิด โดยอาการเริ่มจาก การที่ปลายครีบและผนังที่ยึดก้านครีบกร่อนแหว่ง จากนั้นก้านครีบจะค่อย ๆ กร่อนไปด้วยจนหมดทั้ง ครีบ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila, Pseudomonas sp. และ Myxobacteria sp. เข้าทำลายในขณะที่ปลาอ่อนแอและสภาพแวดล้อมไม่ดี
อาการ ปลายครีบและผนังที่ยึดก้านครีบทุกครีบเริ่มกร่อน ต่อจากนั้นก้านครีบ จะกร่อนไปจนหมด
การรักษา ใช้ยาต้านจุลชีพออกซีเตตราซัยคลิน 1 - 3 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร แช่ตลอด
3. โรคท้องบวม (Bloater Disease)
โรคท้องบวม เป็นโรคที่พบบ่อยอีกชนิดหนึ่งใน ปลาสวยงาม สาเหตุของโรค คือ เชื้อแบคทีเรียเข้าไปทำอันตรายกับอวัยวะภายในของปลา เช่น ตับ ไต ม้ามทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ประกอบกับคุณภาพน้ำไม่ดี โดยเฉพาะมีอาหารเน่าเสียในบ่อมาก
อาการ ส่วนท้องของปลาจะบวมทำให้เกล็ดตั้งขึ้น บางครั้งอาจมีตาโปนร่วม ด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาปลาจะตายภายใน 1-3 สัปดาห์
การรักษา ให้กินยาต้านจุลชีพผสมอาหาร ในอัตรา 1-3 กรัม ต่ออาหาร
1 กิโลกรัม นาน 7 วัน
4. โรคตัวด่าง (Columnaris Disease)
โรคนี้เกิดจากแบคทีเรีย Flexibacter columnaris ปลาป่วยจะมีรอยด่างทั่วไป ตามบริเวณลำตัวและครีบ โรคนี้จะพบบ่อยในช่วงที่อากาศเย็นหรืออุณหภูมิในรอบวันมีการ เปลี่ยนแปลงมาก สามารถเกิดได้กับปลาที่มีเกล็ดและไม่มีเกล็ด และมักเกิดหลังการขนส่งปลา
อาการ บริเวณที่ติดเชื้อจะมีสีจางลงเป็นแถบต่าง ๆ อาจมีการตกเลือดร่วมด้วย บางครั้งครีบและหางกร่อน ปลาจะว่ายน้ำอยู่บริเวณผิวน้ำ หรืออาจจมตัวอยู่บริเวณก้นตู้ การรักษา ใช้ด่างทับทิม 2-3 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ตลอด
5. โรคแผลลำตัว (Ulcer Disease)
สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Aeromonas hydrophila และ Pseudomonas sp. เป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วรักษาค่อนข้างยากมักมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อม เช่น การขนย้ายปลา หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด
อาการ เกิดแผลบวมแดงตามลำตัว เกล็ดหลุด และบริเวณแผลจะเปื่อย ถ้า ปล่อยไว้นานจะเป็นแผลหลุมลึกลงไป มีโอกาสติดเชื้อราทางบาดแผลได้อีกโดยง่าย
การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะไนโตรฟูราโซน 1-2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ 2-3 วัน หรือแช่ในยาปฏิชีวนะออกซีเตตราซัยคลิน 1-3 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร นาน 1-2 วัน ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
ที่มาข้อมูลและภาพ : บรรเจิด สอนสุภาพ. 2559. เอกสารประกอบการสอน รายวิชา การเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาสวยงาม. คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์