นกเขาชวา (นกเขาเล็ก) ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ ลักษณะ นิสัย กินอะไร อาหาร.
เนื้อหาข้อมูล นกเขาชวา
- นกเขาชวา คืออะไร?
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- ความหมายของชื่อและการค้นพบ
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- เสียงร้อง นกเขาชวา
- การสืบพันธุ์
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพ
นกเขาชวา คืออะไร?
นกเขาชวา คือสัตว์ปีกจำพวกนกชนิดหนึ่งในกลุ่มนกประจำถิ่น ซึ่งดำรงชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย พบได้ทั่วไป นกชนิดนี้ไม่ได้รับการสงวนคุ้มครองตามกฎหมายของไทย
นกเขาชวาเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกสัตว์จำพวกนก ซึ่งสัตว์จำพวกนี้เป็นสัตว์เลือดอุ่น หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรง ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
นกชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'นกเขาชวา' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น นกเขาเล็ก เป็นต้น.
อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
นกเขาชวา (เพศผู้), photo by Natureman Thaimountain.
นกเขาชวา พบได้ตามสวน ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าโปร่ง ตลอดจนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 2,030 เมตร เป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆและหากินในตอนกลาง พบทั่วไปตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ในเมือง หรือหมู่บ้าน สวนผลไม้ ทุ่งนา ทุ่งหญ้า และ บริเวณทึกสิกรรมต่างๆ พบโดดเดี่ยว เป็นคู่ พบน้อยที่เป็นฝูง
แต่เดิมตามธรรมชาติมีถิ่นอาศัยพบเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีผู้นำไปเลี้ยงและปล่อยทำให้แพร่กระจายเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในธรรมชาติพบได้บ่อยและปริมาณปานกลาง
กินอะไรเป็นอาหาร
อาหารของนกเขาชวา หากินตามพื้นดินโดยกินเมล็ด ธัญพืช และเมล็ดหญ้าต่างๆเป็นอาหาร
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ นกเขาชวา ภาษาอังกฤษ ว่า Peaceful Dove, Zebra Dove.
ชื่อวิทยาศาสตร์
นกเขาชวา ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Geopelia striata (Linnaeus, 1766) เป็นนกในสกุล Geopelia โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์นกพิราบและนกเขา (Columbidae) ซึ่งเป็นวงศ์ของนกในอันดับนกเขา (Columbiformes)
นกเขาชวา เคยถูกจัดเป็นชนิดเดียวกันกับ Peaceful Dove (ชื่อวิทยาศาสตร์ Geopelia placida Gould, 1844) และ Barred Dove (ชื่อวิทยาศาสตร์ Geopelia maugeus Temminck, 1809) ที่พบในออสเตรเลีย เพราะมีลวดลายตามตัวคล้ายคลึงกัน แต่เสียงร้องทั้ง3ชนิดต่างกันมากทีเดียว
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Columba striata Linnaeus, 1766
ความหมายของชื่อ และ การค้นพบ
ชื่อชนิดเป็นคำ ที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคือ =stria, แปลว่ารอยไถ หรือลาย ความหมายก็คือ "นกเขาที่มี ลาย” เป็นชนิดที่พบครั้งแรกที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ทั่วโลกมีนกเขาชวา 7 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบชนิดย่อยเดียวคือ Geopelia striata striata (Linnaeus) ที่มาและความหมายของ ชื่อชนิดย่อยเช่นเดียวกับชนิด
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- อันดับ (Order) : Columbiformes
- วงศ์ (Family) : Columbidae
- สกุล (Genus) : Geopelia
- ชนิด (Species) : Geopelia striata
ลักษณะทั่วไป
นกเขาชวา มีลักษณะเป็นนกที่มีขนาดเล็ก (21-22 ซม.) ร่างกายเรียว หางยาวและเรียว กระหม่อมตอนหน้า คอหอย และด้านข้างของคอสีเทา ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลอ่อนมีลายขวาง สีดำไม่ค่อยเป็นระเบียบ หางเป็นชั้นๆ ปลายหางและขนหางด้านนอกสีขาว ขนหางส่วนอื่นๆ สีเนื้อ คอ อกด้านข้าง และ เหนือต้นขามีลายสีดำ ปากสีเทาแกมน้ำเงิน ขาและนิ้วสีแดงเข้ม
เสียงร้อง นกเขาชวา
เสียงร้องของนกเขาชวา เสียงร้องก้องกังวานรัวเป็นจังหวะว่า “อุด-อุอุอุอู้” เพื่อประกาศอาณาเขต หรือดึงดูดเพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ ซึ่งเป็นเสียงที่ไพเราะมาก เป็นนกที่นิยมเลี้ยงกันมากชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อฟังเสียงร้องหรือขันซึ่งถือว่าไพเราะมาก
ทำให้เป็นที่นิยมจับมาเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์จนกลายเป็น "สมาคมผู้เลี้ยงนกเขาชวา" ขึ้นมา และมีการประกวดหรือแข่งขันกันเป็นประจำ การร้องหรือการขันของนกเขาชวา เป็นการร้องหรือ ขันเพื่อประกาศอาณาเขต หรือดึงดูดเพศตรงกันข้ามเพื่อการผสมพันธุ์
การสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของนกเขาชวา นกเขาชวาตามธรรมชาติ ผสมพันธ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือ ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ทำรังแบบง่ายๆ ด้วยการใช้กิ่งไม้เล็กๆ และต้นหญ้ามาวาง ซ้อนทับกัน ตามง่ามของต้นไม้บริเวณแหล่งหากินและแหล่งที่อยู่อาศัยต่างๆ
นกเขาชวาที่เลี้ยงเพาะพันธุ์จะผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี ไข่เป็นรูปไข่ ขนาดโดยเฉลี่ย 18.1 x 24.3 มม. ไข่สีขาว ไม่มีลายหรือขีดใดๆ ในแต่ละรังมีไข่ 2 ฟอง ทั้ง 2 เพศช่วยกันหาวัสดุ สร้างรัง ฟักไข่ และ เลี้ยงดูลูกอ่อน นกจะเริ่มฟักไข่หลังจากที่ออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว ใช้ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 12-13 วัน
ในกรงเลี้ยงเมื่อนกเขาชวาออกไข่ และนำไข่ไปให้นกเขาแขกฟักไข่ให้ นกเขาชวา จะออกไข่ไปเรื่อยๆ โดยอาจะออกมากถึง 12 ฟอง หรือมากกว่า ลูกนกเขาชวาที่ออกจากไข่ ใหม่ๆ ยังไม่ลืมตา มีขนอุยปกคลุมลำตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะทางด้านบนลำตัว พ่อแม่ต้องคอย ช่วยกันกกลูก โดยให้ลูกๆซุกได้ปิกหรือได้ท้องเพื่อให้ความอบอุ่น
ช่วยกันเลี้ยงดูลูกด้วยสิ่งสกัดจากกระเพาะพัก ลักษณะคล้ายน้ำนม ตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกมากกว่าตัวเมีย อายุ 7 วัน ลูกจะลืมดาได้ เมื่ออายุ 11-12 วัน มีขนปกคลุมเกือบเต็มตัว เริ่มหัดบิน ใช้เวลาอีก 1-2 วันใน รังจากนั้นก็จะทิ้งรังไป อายุ 45 วันเปลี่ยนเสียงร้องซึ่งแต่เดิมเหมือนลูกไก่เหมือนกับตัวเต็มวัย แต่เป็นเสียงที่เบากว่า จนอายุ 4 เดือนขึ้นไปเสียงจะเริ่มใสและดังขึ้นเรื่อยๆ
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของนกเขาชวา มีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ และหมู่เกาะซุนดาจนถึง ออสเตรเลีย มีผู้นำเข้าไปใน Madagascar, St. Helena และฮาวาย ในเอเชียตะวันออกเฉียงได้ พบในพม่า ไทย และมาเลเซีย
สถานภาพ
นกเขาชวา มีสถานภาพตามฤดูกาล (Seasonal status) เป็น นกประจำถิ่นของไทย สำหรับสถานภาพทางกฎหมาย (Legal status) นกเขาชวา ไม่ได้รับการสงวนคุ้มครองตามกฎหมาย และมีสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น กลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concern)
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.