ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา ชื่อวิทยาศาสตร์ Pareronia anais (Common Wanderer).
ชื่อวิทยาศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pareronia anais Lesson, 1837
วงศ์ย่อย : Pierinae
วงศ์ : Pieridae
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) : Common Wanderer
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา แพร่กระจายในอินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และมาเลเซีย
ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา
ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา (เพศผู้)
ในไทยพบเพียงชนิดย่อยเดียว คือ Pareronia anais subsp. anais Lesson, 1837 มักพบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้า ริมลำห้วย ป่าละเมาะ และป่าโปร่ง ทั่วทุกภาค
ลักษณะ
ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา เป็นผีเสื้อที่มีความว่องไว โดยเฉพาะเพศผู้ มีขนาด 6.5-8 ซม.(วัดจากมุมปลายปีกซ้าย-ขวา ของปีกคู่หน้า) ปีกด้านบนของทั้งสองเพศมีพื้นปีกสีน้ำตาลดำ มีแถบสีฟ้าสดใสในช่องระหว่างเส้นปีก เพศผู้มีลักษณะคล้ายเพศผู้ของผีเสื้อฟ้าเมียเลียนมลายู(Malayan Wanderer) แต่ต่างกันที่ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดานั้น บริเวณมุมปลายปีกหน้าของปีกคู่หน้าในเพศผู้จะมีจุดสีฟ้า ส่วนเพศผู้ของผีเสื้อฟ้าเมียเลียนมลายูไม่มี
ส่วนเพศเมียมีลวดลายสีขาวคล้ายผีเสื้อหนอนใบรักสกุล Parantica จึงเป็นที่มาของชื่อ“ผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา” ต่างกันที่ชนิดนี้มีแถบสีฟ้าอ่อนเกือบขาวบริเวณกลางปีก
ปีกด้านล่างทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายปีกด้านบน แต่สีอ่อนกว่า
กินอะไรเป็นอาหาร
อาหารของผีเสื้อฟ้าเมียเลียนธรรมดา พืชอาหารนั้น ตัวหนอนกินใบสาลีแก่นใจ (Capparis zeylanica L.)
ที่มาข้อมูลและภาพ : Natureman Thaimountain