ปลาซิวเจ็ดสี (ซิวใบไผ่มุก) ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะเด่น วิธีเลี้ยง กินอะไรเป็นอาหาร.
เนื้อหาข้อมูล ปลาซิวเจ็ดสี
- ปลาซิวเจ็ดสี คืออะไร?
- ลักษณะเด่น
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- ลักษณะทั่วไป
- การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
- สถานภาพ
ปลาซิวเจ็ดสี คืออะไร?
ปลาซิวเจ็ดสี คือสัตว์จำพวกปลาในกลุ่มปลาน้ำจืดไทยชนิดหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไทยที่มีลักษณะสวยงาม จึงนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลา เป็นปลาสวยงามน้ำจืดของไทย
ปลาซิวเจ็ดสี เป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกปลากระดูกแข็ง (Bony fish) ในชั้นปลาที่มีก้านครีบ (ray-finned fish) ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น (Cold-blooded) ที่อุณหภูมิในร่างกายสามารถปรับเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย หายใจด้วยเหงือก ช่องเหงือกมองไม่เห็นมีแผ่นแก้มปิดเหงือก มีลักษณะโครงกระดูกเป็นกระดูกแข็ง มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวค่อนข้างแบน มีครีบและหาง ซึ่งใช้ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในน้ำ
ลักษณะเด่น
ปลาซิวเจ็ดสี มีลักษณะเด่นคือลำตัวมีสีสันสวยงาม เวลาว่ายน้ำจะเห็นเหลือบสีวิบวับเหมือนสีรุ้งหรือสีไข่มุก จึงมีชื่อเรียกว่า ซิวเจ็ดสี หรือ ซิวไข่มุก หรือ "Pearl danio" เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ นิยมเลี้ยงเป็นเป็นฝูงให้แหวกว่ายอยู่ในตู้พรรณไม้น้ำ
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
ปลาสวยงามน้ำจืดไทยชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'ปลาซิวเจ็ดสี' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น ปลาซิวใบไผ่เล็ก, ปลาซิวใบไผ่, ปลาซิวใบไผ่มุก, ปลาซิวไข่มุก, ปลาซิวม้ามุก, ปลาซิวใบไผ่เล็กแถบขาว เป็นต้น.
วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
วิธีเลี้ยงปลาซิวเจ็ดสีในตู้ปลา สามารถเลี้ยงเป็นฝูงในตู้ปลาขนาดเล็กที่มีพรรณไม้น้ำ
กินอะไรเป็นอาหาร
Photo by อรุณี รอดลอย.
อาหารของปลาซิวเจ็ดสี ในธรรมชาติจะกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่ในที่เลี้ยงในตู้ปลา สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ ปลาซิวเจ็ดสี ภาษาอังกฤษ ว่า Pearl danio, White-lined danio, Rearing danio, Long-barbel danio, Golden danio, Gold danio.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ปลาซิวเจ็ดสี ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Danio albolineatus (Blyth, 1860) เป็นปลาน้ำจืดไทยในสกุล Danio โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) ซึ่งเป็นวงศ์ปลาน้ำจืดในอันดับปลาตะเพียน (Cypriniformes)
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Brachydanio albolineata (Blyth, 1860)
- Brachydanio albolineatus (Blyth, 1860)
- Branchydanio albolineatus (Blyth, 1860)
- Danio albolineata (Blyth, 1860)
- Danio pulcher Smith, 1931
- Danio stoliczkae Day, 1870
- Danio tweedei Brittan, 1956
- Danio tweediei Brittan, 1956
- Nuria albolineata Blyth, 1860
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Actinopterygii
- อันดับ (Order) : Cypriniformes
- วงศ์ (Family) : Cyprinidae
- สกุล (Genus) : Danio
- ชนิด (Species) : Danio albolineatus
ลักษณะทั่วไป
ปลาซิวเจ็ดสี เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะรูปร่างเรียวยาวแบนข้าง หัวและจะงอยปากมน ปากกว้าง มีหนวดยาวที่ริมฝีปากบน 1 คู่ และที่มุมปาก 1 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่มีลักษณะบางและหลุดง่าย ลำตัวมีสีรุ้งปรากฏชัดเจนในเพศผู้ ครีบหลังค่อนไปทางด้านหาง ครีบก้นสั้น ครีบหางเว้าตื้น เส้นข้างลำตัวไม่สมบูรณ์ ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 2 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว 3 ก้าน และก้านครีบแขนง 13 ก้าน มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 3.5 เซนติเมตร
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัยของปลาซิวเจ็ดสี พบอาศัยในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีมาก อุณหภูมิน้ำ 22 - 27 องศาเซลเซียสเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแม่น้ำสาละวิน, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำโขง และแม่น้ำต่าง ๆ ในภาคใต้ รวมถึงแหล่งน้ำในป่าพรุด้วย โดยมักซ่อนอยู่ใต้ซากใบไม้ และพบเรื่อยไปจนถึงเกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย
สถานภาพ
ปลาซิวเจ็ดสี ถูกจับรวบรวมจากธรรมชาติเพื่อขายส่งต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงใหม่ กรมประมงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป
ที่มา : อรุณี รอดลอย. (2564). 95 ชนิด ปลาสวยงามน้ำจืดไทย 95 ปี กรมประมง. กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.