นกตีนเทียน (นกตีนเทียนปีกดำ) ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ถิ่นอาศัย กินอะไรเป็นอาหาร.
เนื้อหาข้อมูล นกตีนเทียน
- นกตีนเทียน คืออะไร?
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- ความหมายของชื่อและการค้นพบ
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- เสียงร้อง นกตีนเทียน
- การสืบพันธุ์
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพ
นกตีนเทียน คืออะไร?
นกตีนเทียน คือสัตว์ปีกจำพวกนกชนิดหนึ่งในกลุ่มนกประจำถิ่น และนกอพยพในฤดูหนาว ซึ่งดำรงชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย โดยมีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
นกตีนเทียนเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในไฟลัมสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในชั้นสัตว์ปีก หรือ สัตว์จำพวกนก (รวมถึง ไก่,เป็ด,ห่าน,ไก่ฟ้า) ซึ่งสัตว์จำพวกนี้เป็นสัตว์เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรงกลวงเบา ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
นกชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'นกตีนเทียน' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น นกตีนเทียนปีกดำ, นกตีนเทียนหัวขาว เป็นต้น.
อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
Photo by เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน จังหวัดชัยภูมิ.
นกตีนเทียน เป็นนกที่หากินและมีกิจกรรมต่างๆ ในตอนกลางวัน พบตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งในน้ำจืดและน้ำทะเลเช่น บึง บาง หนอง ทะเลสาบ อ่างเก็บน้ำ นากุ้ง นาเกลือ และชายเลน ปกติมักพบโดดเดี่ยว ในช่วงฤดูผสมพันธุ์อาจพบเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม พบหากินทั้งบนบก ดินเลน ชายน้ำ หรือในแอ่งน้ำซึ่งน้ำลึกถึงท้อง เป็นนกที่บินได้ดี เมื่อมีศัตรูหรือสิ่งรบกวนจะบินหนี
กินอะไรเป็นอาหาร
อาหารของนกตีนเทียน อาหารได้แก่ ปลา กุ้ง ปู หอย แมลง และตัวหนอน ด้วยการเดินไล่จิก หรือใช้ปากชอนไชไปตามน้ำ
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ นกตีนเทียน ภาษาอังกฤษ ว่า Black-winged Stilt, White-headed Stilt.
ชื่อวิทยาศาสตร์
นกตีนเทียน ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Himantopus himantopus (Linnaeus, 1758) เป็นสัตว์ปีกในสกุล Himantopus โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์นกตีนเทียน (Recurvirostridae) ซึ่งเป็นวงศ์ของนกในอันดับนกชายเลน (Charadriiformes)
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Charadrius himantopus Linnaeus, 1758
- Charadrius spec Linnaeus, 1758
- Himantopus atropterus Meyer
- Himantopus candidus Bonnaterre
- Himantopus himantopus himantopus (Linnaeus, 1758)
ความหมายของชื่อ และ การค้นพบ
ชื่อชนิดมีที่มาและความหมายเช่นเดียวกับชื่อสกุล เป็นชนิดที่พบครั้งแรกที่ยุโรปตอนได้
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- อันดับ (Order) : Charadriiformes
- วงศ์ (Family) : Recurvirostridae
- สกุล (Genus) : Himantopus
- ชนิด (Species) : Himantopus himantopus
ลักษณะทั่วไป
นกตีนเทียน มีลักษณะ เป็นนกที่มีขนาดเล็ก-กลาง (37-38 ซม.) ปากยาว เรียว แหลม และมี สีดำ คอยาวปานกลาง ปีกยาวแหลม หางยาวปานกลาง ขายาวมาก เมื่อเทียบกับขนาดของ ลำตัวขาและนิ้วสีแดงหรือชมพู แต่ละขามี 4 นิ้ว เหยียดไปข้างหน้า 3 นิ้ว และข้างหลัง 1 นิ้ว โดยนิ้วที่ 1 หรือนิ้วที่หันไปทางด้านหลังจะสั้นและมักอยู่ในระดับที่สูงกว่านิ้วอื่นๆ
ในขณะที่บินจะเห็นสีขาวของขนคลุมโคนขนหางด้านบนและตะโพกเป็นรูปลิ่มเข้าไปตัดกับสีของปีก ซึ่งมีสีดำ เห็นขาและนิ้วเหยียดตรงยื่นยาวออกไปจากปลายหางมาก ตัวผู้และตัวเมียสีสัน แตกต่างกันเล็กน้อย โดยที่ตัวผู้หัว และคอจะเป็นสีขาว
ตัวผู้ที่ยังไม่เต็มวัยส่วนท้ายของ กระหม่อมและคอด้านบนเป็นสีดำ ตัวเมียบริเวณหลังและช่วงไหล่เป็นสีน้ำตาลเข้ม กระหม่อมและคอตอนท้ายเป็นสีเทาหม่น ตัวไม่เต็มวัยทั่วๆไปลักษณะคล้ายกับตัวเมีย แต่ บริเวณกระหม่อมและคอตอนท้ายเป็นสีเทา ปลายของขนกลางปีกมีลายแถบสีขาว ขาและนิ้ว สีทึบ ไม่เป็นสีแดงหรือชมพูเหมือนตัวเต็มวัย
เสียงร้อง นกตีนเทียน
เสียงร้องของนกตีนเทียน มักส่งเสียงร้อง โดยออกเป็นเสียง "กิก-กิก-กิก" มักจะร้องซ้ำหลายๆครั้ง
การสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของนกตีนเทียน ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนเมษายน- มิถุนายน ทำรังอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยทำรังบนหญ้าหรือเนินดินใกล้ๆ กับแหล่งน้ำซึ่งเป็น แหล่งหากิน ด้วยการขุดดินเป็นแอ่งตื้นๆ เอาใบหญ้ามาวางตรงกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ แต่ละรังห่างกันประมาณ 5-7 เมตร
ไข่รูปร่างเรียวยาว ขนาดโดยเฉลี่ย 31.0 x 44.0 มม. ไข่มีสีพื้นเป็นสีเขียวเข้ม หรือสีน้ำตาล มีจุดหรือลายสีเขียวหรือน้ำตาลแดงทั่วฟองไข่ ในแต่ละรังมีไข่ 3-4 ฟอง เมื่อมีคนหรือสิ่งรบกวนเข้าใกล้รัง นกจะส่งเสียงร้องและบินวนเวียนไปมา และมักจะแกล้งร่อนและลงมาเอาปีกฟาดกับดินซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งรัง ทั้งนี้เพื่อจะเบนจุดสนใจให้ ไปไกลจากรังของมัน
ทั้งสองเพศช่วยกันฟักไข่โดยเริ่มฟักตั้งแต่ออกไข่ฟองแรก ระยะเวลา ฟักไข่ทั้งสิ้น 25-26 วัน ลูกนกตีนเทียนที่ออกจากไข่ใหม่ๆ เป็นลูกอ่อนเดินได้ มีขนอุยคลุม ตัว ออกมาได้ไม่นาน หรือเมื่อขนแห้งก็สามารถยืนและเดินได้
เมื่อออกไข่ครบรังแล้วพ่อแม่ จะพาเดินหาอาหาร หน้าที่ของพ่อแม่จะสิ้นสุดลงเมื่อลูกๆ โตพอประมาณ แข็งแรง หรือบิน ได้ดีแล้ว จากนั้นลูกๆก็จะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง หรือรวมกับนกตัวอื่นๆเป็นฝูง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน หลังออกจากไข่
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของนกตีนเทียน มีถิ่นกำเนิดในซีกโลกตะวันออกรวมทั้ง อินเดีย จีน ได้หวัน ฟิลิปปินส์ บอร์เนียว และชวา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในพม่า ไทย และเป็น นกหลงเข้ามาในมาเลเซีย
สถานภาพ
นกตีนเทียน มีสถานภาพตามฤดูกาล (Seasonal status) เป็นนกประจำถิ่น และส่วนหนึ่งเป็นนกอพยพมาสมทบในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ หรือฤดูหนาว ส่วนใหญ่พบในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังพบได้ในบางแห่งของภาคเหนือ และภาคใต้ โดยทั่วไปพบได้บ่อยและปริมาณค่อนข้างมาก
มีสถานภาพทางกฎหมาย (Legal status) เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง และมีสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น กลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concern)
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.