นกเขาไฟ ชื่อวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ลักษณะ อุปนิสัย กินอะไร อาหาร ถิ่นอาศัย.
เนื้อหาข้อมูล นกเขาไฟ
- นกเขาไฟ คืออะไร?
- อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- ความหมายของชื่อและการค้นพบ
- อนุกรมวิธาน
- ลักษณะทั่วไป
- เสียงร้อง นกเขาไฟ
- การสืบพันธุ์
- การแพร่กระจาย
- สถานภาพ
นกเขาไฟ คืออะไร?
นกเขาไฟ คือสัตว์ปีกจำพวกนกชนิดหนึ่งในกลุ่มนกประจำถิ่นของไทย ซึ่งดำรงชีวิตอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในประเทศไทย โดยมีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย
นกเขาไฟเป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในไฟลัมสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในชั้นสัตว์ปีก หรือ สัตว์จำพวกนก (รวมถึง ไก่,เป็ด,ห่าน,ไก่ฟ้า) ซึ่งสัตว์จำพวกนี้เป็นสัตว์เลือดอุ่น ออกลูกเป็นไข่ หายใจโดยใช้ปอด มีจะงอยปากแข็ง ฟันลดรูป กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรงกลวงเบา ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเบา ขาคู่หน้าพัฒนาไปเป็นปีก มีปีก 1 คู่ มีขา 1 คู่ มีรูปร่างเพรียวปกคลุมด้วยขน มีขนเป็นแผง มีเกล็ดที่ขาและนิ้วเท้า ทำรังวางไข่บนบก ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม
อุปนิสัยและถิ่นอาศัย
นกเขาไฟ; Photo by Alnus.
นกเขาไฟ ออกหากินและมีกิจกรรมต่างๆในตอนกลางวัน พบตามป่าละเมาะ ทุ่งนา ไร่ สวน บางครั้งก็พบตามป่าโปร่งเช่น ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ปกติพบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆ เป็นนกที่บินได้ดีลักษณะของการบินคล้ายกับนกพิราบ มักพบ เกาะตามสายไฟฟ้าบริเวณ 2 ข้างทางถนน และลงมาหากินตามพื้นดิน หรือพื้นถนน อาจจะ พบเกาะตามกิ่งไม้แห้ง ยกเว้นในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจะเกาะตามกิ่งไม้ที่มีใบแน่นทึบ
กินอะไรเป็นอาหาร
อาหารของนกเขาไฟ กินเมล็ดธัญพืชต่างๆเป็นอาหารเป็นส่วนใหญ่เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง นอกจากนี้ก็ยังกินเมล็ดพืชอื่นๆอีกด้วย วิธีการหากินใช้ การเดินจิกอาหารตามทุ่งนา ทุ่งหญ้า ไร่ หรือพื้นถนน นอกจากนี้ยังกินโป่งซึ่งเป็นแหล่งดิน หรือน้ำที่มีธาตุแคลเซียม และโซเดียมสูง เนื่องจากแร่ธาตุทั้งสองจำเป็นต่อร่างกายมาก แต่นก ได้แร่ธาตุดังกล่าวน้อยมากจากแหล่งอาหารตามปรกติ
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ นกเขาไฟ ภาษาอังกฤษ ว่า Red Collared-dove, Red Collared Dove, Red Collared-Dove, Red Turtle Dove, Red Turtle-dove.
ชื่อวิทยาศาสตร์
นกเขาไฟ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Streptopelia tranquebarica (Hermann, 1804) เป็นสัตว์ปีกในสกุล Streptopelia โดยถูกจัดอยู่ในวงศ์นกพิราบและนกเขา (Columbidae) ซึ่งเป็นวงศ์ของนกในอันดับนกพิราบและนกเขา (Columbiformes)
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Columba tranquebarica Hermann, 1804
ความหมายของชื่อ และ การค้นพบ
ชื่อชนิดเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากชื่อสถานที่คือ Tranquebaria ในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบนกชนิดนี้เป็นครั้งแรก
ทั่วโลกมีนกเขาไฟ 3 ชนิดย่อย ในประเทศไทยพบชนิดย่อยเดียว คือ Streptopelia tranquebarica humilis (Temminck) ชื่อชนิดย่อยเป็นคำที่มาจากรากศัพท์ภาษาละติน คือ humil,-i แปลว่าพื้นดิน หรือพื้นที่ที่ต่ำ ความหมายของชื่อชนิดย่อยก็คือ "นกที่หากินตามพื้นดิน หรือนกที่พบในพื้นที่ระดับต่ำ” เป็นชนิดย่อยที่พบครั้งแรกในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Aves
- อันดับ (Order) : Columbiformes
- วงศ์ (Family) : Columbidae
- สกุล (Genus) : Streptopelia
- ชนิด (Species) : Streptopelia tranquebarica
ลักษณะทั่วไป
นกเขาไฟ มีลักษณะ เป็นนกที่มีขนาดเล็ก (22-23 ซม.) ปากอ้วนและค่อนข้างสั้น คอสั้น ปีกยาวแหลม หางยาวปานกลาง ขนหางคู่นอกสุดกว้างตอนปลายสีขาว ขาค่อนข้างสั้น
ตัวผู้ และตัวเมียสีสันแตกต่างกันเล็กน้อย ตัวผู้สีสันตามลำตัวและขนปกคลุมปีกด้านบนเป็นสี น้ำตาลแดง ซึ่งตัดกับสีของหัวและคอหอยที่เป็นสีเทา และขนปลายปีกที่เป็นสีดำ บริเวณต้น คอมีแถบสีดำลักษณะเป็นครึ่งวงกลมทางด้านบน ทางด้านท้ายของลำตัวด้านบนจนถึงหาง เป็นสีเทา ขนปกคลุมด้านล่างของหางเป็นสีขาว ปากสีดำ ขาและนิ้วสีน้ำตาลแกมดำ
สำหรับตัวเมียลักษณะทั่วไปคล้ายกับตัวผู้ โดยสีของลำตัวเป็นสีน้ำตาล หัวและหลังตอนท้ายจนถึง หางเป็นสีน้ำตาลแกมเทา มีแถบที่ต้นคอเช่นเดียวกับตัวผู้ ตัวไม่เต็มวัยสีสันจะเหมือนกับตัวเมีย แต่ไม่มีแถบที่ต้นคอ
เสียงร้อง นกเขาไฟ
เสียงร้องของนกเขาไฟ ร้องหรือขันเป็นเสียง "ครู-ครู-ครู-ครู" โดยร้อง 4-5 พยางค์ซ้ำๆกันหลายครั้ง แต่เป็น เสียงที่ไม่ค่อยดังมากนักเมื่อเทียบกับนกเขาใหญ่ การร้องหรือการขันเป็นการประกาศอาณา เขต และดึงดูดเพศตรงกันข้ามในการผสมพันธุ์
การสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของนกเขาไฟ ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน หรือระหว่างเดือน เมษายน-กรกฎาคม ทำรังแบบง่ายๆด้วยการใช้กิ่งไม้เล็กๆ หรือกอหญ้า มาวางซ้อนทับกัน ตามง่ามของต้นไม้ ทำตรงกลางให้เป็นแอ่ง นำหญ้าหรือใบไม้มาวางตรงกลางแอ่งเพื่อรองรับไข่ รูปร่างของรังจึงมีลักษณะคล้ายจานกลม
ขนาดของรังโดยเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอก 8-12 ซม. ลึก 2-3 ซม. และอยู่เหนือระดับพื้นดิน 2-5 เมตร ทั้ง 2 เพศช่วยกันหาวัสดุและสร้าง รังร่วมกัน ไข่ของนกเขาไฟมีลักษณะเป็นรูปไข่ ขนาดโดยเฉลี่ย 19.7 x 27.5 มม. ไข่สีขาว ไม่มีลายหรือจุด หรือขีดใดๆ แต่ละรังมีไข่ 2 ฟอง ทั้ง 2 เพศช่วยกันฟักไข่ ปรกติตัวผู้จะฟักในตอนกลางวันและในช่วงที่ไข่กำลังจะถูกฟักออกเป็นตัว ตัวเมียจะฟักในตอนกลางคืน
จะเริ่มฟักไข่เมื่อออกไข่ครบรังแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้น 13-14 วัน ลูกนกที่ออกจากไข่ใหม่ๆ ยัง ไม่ลืมตา มีขนอุยปกคลุมลำตัวบางส่วนโดยเฉพาะทางด้านบนลำตัว พ่อแม่จะช่วยกันกกลูก โดยให้ลูกๆซุกใต้ปีกหรือใต้ท้อง และช่วยกันเลี้ยงดูลูกด้วยสิ่งที่สกัดออกมาจากกระเพาะพัก ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำนม ลูกอายุ 1 สัปดาห์ จะมีขนอุยปกคลุมเกือบทั่วตัว อายุ 2 สัปดาห์จะแข็งแรงและบินได้ จากนั้นก็จะทิ้งรังไป ลูกนกใช้เวลาปีเดียวก็จะโตเป็นตัวเต็มวัยพอที่จะผสมพันธุ์ได้
การแพร่กระจาย
การแพร่กระจายของนกเขาไฟ มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เกาะอันดามัน จีน ไหหลำ ได้หวัน และฟิลิปปินส์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในพม่า ไทย และอินโดจีน หายากใน มาเลเซีย
สถานภาพ
นกเขาไฟ มีสถานภาพตามฤดูกาล (Seasonal status) เป็น นกประจำถิ่นของไทย พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบ ได้บ่อยและปริมาณค่อนข้างมาก มีสถานภาพทางกฎหมาย (Legal status) เป็น สัตว์ป่าคุ้มครอง และมีสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น กลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least concern)
ที่มา : กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.