ปลากระดี่มุก ชื่อวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ กินอะไรเป็นอาหาร วิธีเลี้ยง การเพาะพันธุ์.
เนื้อหาข้อมูล ปลากระดี่มุก
- ปลากระดี่มุก คืออะไร?
- ลักษณะเด่น
- ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
- วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
- กินอะไรเป็นอาหาร
- ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
- ชื่อวิทยาศาสตร์
- อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- ลักษณะทั่วไป
- การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
- สถานภาพ
- การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก
- เทคนิคการเลี้ยงปลากระดี่มุกให้มีสีสวย
ปลากระดี่มุก คืออะไร?
ปลากระดี่มุก คือสัตว์จำพวกปลาในกลุ่มปลาน้ำจืดไทยชนิดหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทย ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดไทยที่มีลักษณะสวยงาม จึงนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลา เป็นปลาสวยงามน้ำจืดของไทย
ปลากระดี่มุก เป็นสัตว์มีแกนสันหลังซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยอยู่ในจำพวกปลากระดูกแข็ง (Bony fish) ในชั้นปลาที่มีก้านครีบ (ray-finned fish) ซึ่งจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น (Cold-blooded) ที่อุณหภูมิในร่างกายสามารถปรับเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิของแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย หายใจด้วยเหงือก ช่องเหงือกมองไม่เห็นมีแผ่นแก้มปิดเหงือก มีลักษณะโครงกระดูกเป็นกระดูกแข็ง มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวค่อนข้างแบน มีครีบและหาง ซึ่งใช้ในการทรงตัวและการเคลื่อนไหวในน้ำ
ลักษณะเด่น
ปลากระดี่มุก มีลักษณะโดดเด่นกว่าปลากระดี่หม้อที่มีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ คือบริเวณลำตัวมีจุดสีขาวคล้ายมุกขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป จึงมีชื่อสามัญว่าปลากระดี่มุก หรือ "Pearl gourami" เป็นปลาสวยงามได้รับความนิยมเลี้ยงทั่วโลก เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้พัฒนาสายพันธุ์เพื่อสร้างมูลค่าโดยทำให้มีลำตัวสั้นเรียกว่า กระดี่มุกช๊อตบอดี้ หรือ Short body Pearl gourami
ชื่อไทย, ชื่อพื้นเมือง (ชื่อท้องถิ่น)
ปลาสวยงามน้ำจืดไทยชนิดนี้ นอกจากมีชื่อไทยว่า 'ปลากระดี่มุก' แล้วยังมีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง (vernacular name) หรือ ชื่อท้องถิ่น (local name) ซึ่งเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีก เช่น ปลาอีแกสะป๊ะอางิง เป็นต้น.
วิธีเลี้ยงในตู้ปลา
วิธีเลี้ยงปลากระดี่มุกในตู้ปลา สามารถเลี้ยงในตู้ที่มีพรรณไม้น้ำ เป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมสูงเพราะ มีสีสันสวยงาม มีการจัดประกวดทั้งในประเทศ (งานประมงน้อมเกล้าฯ) และต่างประเทศ เช่น ในงาน Aquarama ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีการ คัดพันธุ์ให้มีลักษณะลำตัวสั้น หรือ shortbody ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในวงการ ปลาสวยงาม
กินอะไรเป็นอาหาร
Photo by อรุณี รอดลอย.
อาหารของปลากระดี่มุก ในธรรมชาติจะกินแพลงก์ตอน พืชน้ำขนาดเล็ก ตัวอ่อนแมลงน้ำ ซากพืชที่เน่าเปื่อย และอาหารมีชีวิตขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่ในที่เลี้ยงในตู้ปลา สามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ชื่อสามัญ (Common name) ของ ปลากระดี่มุก ภาษาอังกฤษ ว่า Pearl gourami, leeri, Mosaic gourami, Diamond gourami, Lace gourami.
ชื่อวิทยาศาสตร์
ปลากระดี่มุก ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Trichopodus leerii (Bleeker, 1852) เป็นปลาน้ำจืดไทยในสกุล Trichopodus โดยถูกจัดอยู่ในอันดับปลากะพง (Osphronemidae) ซึ่งเป็นวงศ์ปลาน้ำจืดใน (Perciformes)
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Trichogaster leeri (Bleeker, 1852)
- Trichogaster leerii (Bleeker, 1852)
- Trichogaster leerri (Bleeker, 1852)
- Trichopodus leeri (Bleeker, 1852)
- Trichopus leerii Bleeker, 1852
อนุกรมวิธาน (Taxonomy)
- อาณาจักร (Kingdom) : Animalia
- ไฟลัม (Phylum) : Chordata
- ไฟลัมย่อย (Subphylum) : Vertebrata
- ชั้น (Class) : Actinopterygii
- อันดับ (Order) : Perciformes
- วงศ์ (Family) : Osphronemidae
- สกุล (Genus) : Trichopodus
- ชนิด (Species) : Trichopodus leerii
ลักษณะทั่วไป
ปลากระดี่มุก มีลักษณะลำตัวเพรียวยาวและแบนข้างมาก ตามตัวมีจุดสีขาวคล้ายมุกขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วไป คางและท้องมีสีส้มสด ครีบก้นของเพศผู้แตกออกเป็นแฉก คล้ายชายครุย เพศเมียมีขนาดเล็กและสีอ่อนกว่า ที่กลางลำตัวจากปาก จรดโคนหางมีแถบสีดำคาดตามความยาวลำตัว โคนหางมีจุดดำข้างละ 1 จุด ครีบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายหนวด เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด ขนาดเฉลี่ยความยาวประมาณ 12 ซม.
ปลากระดี่มุก มีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ เรียกว่า labyrinth organ เหมือน กับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้าง หัวเล็ก นัยน์ตาโต ปากอยู่หน้าสุดริมฝีปากยืดหดได้ มีฟันบนกระดูกเพดานปาก เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ ครีบหลังมีก้านครีบแขนงไม่เกิน 10 ก้านครีบหลัง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกบางใส ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว อันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายครีบตัดตรง บนลำตัวมีแถบน้ำเงินอ่อนหรือแถบเขียวสลับแดงอมน้ำตาล แถบสีเหล่านี้กระจายไปตามครีบต่าง ๆ ในปลาเพศผู้มีสีสันสดสวยกว่าตัวเมีย เกล็ดบริเวณลำตัวมันวาว สวยงาม
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัย
การแพร่กระจายและถิ่นอาศัยของปลากระดี่มุก แหล่งน้ำนิ่ง หนอง บึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพรรณไม้น้ำหนาแน่น ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปทางภาคใต้
สถานภาพ
ปลากระดี่มุก ถูกจับรวบรวมจากที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเพื่อส่งขายต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ พบเฉพาะในแหล่งน้ำบริเวณป่าพรุทางภาคใต้ เช่น พรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการและเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามในจังหวัดปัตตานี กรมประมงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเพื่อส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เพื่อลดการจับจากธรรมชาติ รวมทั้งเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่ต่อไป
การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก
การเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก โดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetate ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ domperidone ฉีดปลาเพศเมีย ครั้งที่ 1 ในอัตราความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง จึงฉีดครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปลาเพศผู้ฉีดครั้งเดียวพร้อมเพศเมียครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับ ยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
แม่ปลาสามารถวางไข่ภายในระยะเวลาประมาณ 45-48 ชั่วโมง หลังฉีดครั้งที่ 2 ครั้ง ลักษณะไข่ปลาเป็นแบบไข่ลอย เม็ดกลมสีเหลืองทอง ไข่ฟักเป็นตัวอยู่ในระหว่าง 15-16 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 26-27 องศาเซลเซียส มีอัตราการฟักเท่ากับ 40-50เปอร์เซ็นต์ อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนด้วยโรติเฟอร์และไข่แดงบดละเอียด
สำหรับวิธีการเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุก แบบวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำปลากระดี่มุกเพศผู้ และเพศเมียที่มีท้องใหญ่ใส่อ่างเพาะพันธุ์ ใส่ ผักบุ้งเพื่อให้หวอดเกาะ และเด็ดใบผักบุ้งเพื่อให้เน่าสลาย ช่วยในการกระตุ้นให้แม่ปลาวางไข่ได้เร็วยิ่งขึ้น เมื่อแม่ปลาวางไข่แล้วสังเกตว่าแม่ปลาท้องแฟบลงให้นำแม่ปลาออกจากอ่างเพาะ เพื่อป้องกันแม่ปลากินไข่ปลา และปล่อยพ่อปลาดูแลโดยพ่นไข่ติดกับหวอดคล้าย ๆ กับหวอดปลากัดนั่นเอง พอลูกปลากระดี่มุกที่เกิดใหม่ในระยะ 2 วัน ยังไม่ต้องให้อาหาร หลังจากนั้นควรให้อาหารมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น โรติเฟอร์ และลูกไรแดงกินเป็นอาหาร ถ้าไม่มีสามารถใช้ไข่แดงต้มสุกบด
หลังจากให้ไข่แดงบดละเอียดไปแล้ว 3-4 วัน จึงเปลี่ยนไปให้อาร์ทีเมียประมาณ 1 สัปดาห์ สังเกตเห็นได้ว่าลูกปลามีการเจริญเติบโตได้เร็วกว่าในช่วงแรก การเปลี่ยนถ่ายน้ำสามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้เมื่อลูกปลามีอายุ 12 วัน จึงเปลี่ยนให้ไรแดงที่มีชีวิตการหมักน้ำแก่ซึ่งช่วยให้ปลากระดี่มุกมีความสวยงามเพิ่มขึ้นทำได้ไม่ยุ่งยาก โดยน้ำที่ใส่อ่างเลี้ยงปลาต้องปิดคลุมไว้ไม่ให้รับแสงแดดโดยตรง สำหรับระยะปิดคลุมประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ 15 วัน ซึ่งปิดพื้นที่ด้านบนอ่างประมาณครึ่งอ่าง เพียงไม่กี่วันก็พบว่ามีน้ำแก่เกิดขึ้น
ปัญหาที่พบจากการเพาะพันธุ์ปลากระดี่มุกไม่ประสบผลสำเร็จ
- การให้อาหารลูกปลาในช่วงเกิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอาหารสมทบ เช่น ไข่แดงต้มบดละลายน้ำ ต้องระมัดระวังอย่าให้ปริมาณมาก เพราะทำให้น้ำเน่าเสียได้
- โรคจุดขาว เกิดจากเชื้อรา และ โรคเกล็ดพอง ทำให้ตัวปลาผิดปกติ ปลาที่เป็นโรคดังกล่าวนั้น รักษาโดยการใช้ด่างทับทิมใส่น้ำพอออกสีม่วงอ่อนๆ ในภาชนะแล้วนำปลาลงไปแช่ค้างคืนหากไม่หายทำซ้ำอีกครั้ง เมื่อปลาหายป่วยแล้ว นำกลับมาลงตู้ใส่เกลือลงตู้เลี้ยงปลาให้มีรสกร่อย ๆ
- ระมัดระวังอย่างให้ลูกปลาถูกน้ำฝน เพราะคุณสมบัติของน้ำเป็นกรด ทำให้ลูกปลาตาย
เทคนิคการเลี้ยงปลากระดี่มุกให้มีสีสันเข้มสวยงาม
ในกรณีที่เลี้ยงให้ปลามีคุณภาพ เพื่อส่งเข้าประกวดต้องเลี้ยงในน้ำแก่ก่อนประกวด 1 เดือนนอกจากหมักน้ำให้แก่แล้ว ต้องหาวัสดุคลุมบังให้ถูกแสงเพียงครึ่งหนึ่ง โดยให้ปลาอยู่ในที่มืด ๆ ไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อย ๆ จะทำให้ปลามีสีสัน และมุกเข้มขึ้น เมื่อใกล้วันประกวดให้ใส่ตัวเมียลงไป เมื่อปลาตัวเมียไล่ตัวผู้เกิดการขับสีผิวให้เข้มขึ้น พฤติกรรมนี้คล้ายคลึงกับปลากัด
ที่มา : อรุณี รอดลอย. (2564). 95 ชนิด ปลาสวยงามน้ำจืดไทย 95 ปี กรมประมง. กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.